การศึกษาครั้งใหม่สั่นคลอนความคิดการบำบัดด้วยฮอร์โมนทดแทน

20 ต.ค. 2563 15:43:49จำนวนผู้เข้าชม : 502 ครั้ง
Amy Norton, HealthDay Reporter

ประเด็นโต้แย้งเกี่ยวกับการบำบัดด้วยฮอร์โมนหลังวัยหมดประจำเดือนกับความเสี่ยงต่อโรคมะเร็งเต้านมอาจยิ่งคลุมเครือมากขึ้น  การศึกษาขนาดใหญ่ครั้งใหม่แสดงให้เห็นว่า การบำบัดด้วยฮอร์โมนบำบัดต่างชนิดกันมีผลตรงกันข้ามกันสำหรับความเสี่ยงต่อโรคในระยะยาวของผู้หญิง
          คณะผู้วิจัยได้พบว่า การบำบัดด้วยฮอร์โมนทดแทนรวม (combined hormone replacement therapy: HRT) (คือ เอสโตรเจนและโปรเจสติน) เพิ่มความเสี่ยงต่อโรคมะเร็งเต้านม ด้วยผลกระทบที่ใช้เวลาหลายปีหลังจากผู้หญิงหยุดการบำบัด
          ตรงกันข้าม ผู้หญิงที่ใช้เอสโตรเจนอย่างเดียวปรากฏว่าลดความเสี่ยงต่อโรคมะเร็งเต้านมด้วยระยะเวลาที่นานเท่ากัน
          การค้นพบนี้มาจากการติดตามผลในระยะยาวของโครงการ Women's Health Initiative (WHI) ซึ่งเป็นโครงการที่ได้รับทุนสนับสนุนจากรัฐบาลโดยเริ่มต้นในทศวรรษ 1990 ซึ่งทดสอบผลต่อสุขภาพของการบำบัดด้วยฮอร์โมนทดแทน  ในการทดลองครั้งหนึ่งได้สุ่มให้ผู้หญิงกว่า 16,000 คน อายุ 50 ถึง 79 ปี ให้ได้รับการบำบัดด้วยฮอร์โมนทดแทนรวม (combined HRT) หรือยาหลอก  และอีกการทดลองหนึ่งกับผู้หญิงเกือบ 11,000 คน กลุ่มอายุเดียวกัน โดยได้รับการบำบัดด้วยเอสโตรเจนอย่างเดียว หรือยาหลอก
          ก่อนโครงการ WHI แพทย์คิดว่า การบำบัดด้วยฮอร์โมนในวัยหมดประจำเดือน ซึ่งจะช่วยควบคุมอาการร้อนวูบวาบ จะส่งผลดีต่อสุขภาพประการอื่น ๆ รวมทั้งการลดความเสี่ยงต่อโรคหัวใจด้วย
          แต่การค้นพบในตอนแรกจากโครงการ WHI ได้สร้างแรงกระเพื่อมขึ้นมา เมื่อนักวิจัยพบความเสี่ยงต่อโรคที่สูงขึ้น นั่นคือ Combined HRT เพิ่มโอกาสที่ผู้หญิงจะเป็นโรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง ลิ่มเลือด และโรคมะเร็งเต้านม
          ภาพดังกล่าวแตกต่างจากการบำบัดด้วยเอสโตรเจนอย่างเดียว ซึ่งทำให้มีความเสี่ยงต่อการเกิดลิ่มเลือดและโรคหลอดเลือดสมอง แต่ไม่เพิ่มความเสี่ยงต่อโรคหัวใจ  นอกจากนั้น พบว่าได้ช่วยลดโอกาสของการเกิดโรคมะเร็งเต้านมอีกด้วย
          แต่เฉพาะผู้หญิงบางคนที่สามารถรับการบำบัดด้วยเอสโตรเจน คือ ผู้ที่ได้รับการผ่าตัดมดลูก เนื่องจากการใช้เอสโตรเจนในตัวมันเองก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อโรคมะเร็งมดลูก
          มีการศึกษาเชิงสังเกตการณ์หลายครั้ง ซึ่งติดตามผู้หญิงใน “ชีวิตจริง” ที่เลือกใช้การบำบัดด้วยฮอร์โมนหรือไม่ได้เลือก พบว่า การบำบัดด้วยเอสโตรเจนอย่างเดียวมีความสัมพันธ์กับความเสี่ยงต่อโรคมะเร็งเต้านมที่สูงขึ้น
          เมื่อมาพิจารณาบรรดาการค้นพบล่าสุดจาก WHI  คณะทำงานได้แสดงให้เห็นว่า หลังจากหยุด combined HRT ไปหลายปี  ผู้หญิงยังเผชิญกับความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นต่อโรคมะเร็งเต้านมต่อไป  ขณะเดียวกันยังคงมีความเสี่ยงที่ลดลงซึ่งพบได้ในการบำบัดด้วยเอสโตรเจนอย่างเดียว
          “ดังนั้น ฝ่ายไหนล่ะที่ถูกต้อง การทดลองทางคลินิกขนาดใหญ่หรือว่าการศึกษาเชิงสังเกตการณ์ขนาดใหญ่ดังกล่าว” Dr. Rowan Chlebowski ผู้นำนักวิจัยในการวิเคราะห์ครั้งใหม่กล่าว
          โชคไม่ดีที่ไม่มีคำตอบชัดเจน  Dr.Chlebowski หัวหน้าหน่วยมะเร็งวิทยาการแพทย์ที่ Harbor-UCLA Medical Center ในลอสแอนเจลิส กล่าว
          เขาได้นำเสนอผลการค้นพบ ณ ที่ประชุมประจำปี San Antonio Breast Cancer Symposium งานวิจัยนี้จะถือว่าเป็นงานวิจัยเบื้องต้นจนกว่าจะเผยแพร่ในวารสารที่ผ่านการตรวจสอบของคณะผู้เชี่ยวชาญแล้ว
          “โดยรวมแล้ว” Dr. Chlebowski บอกว่า “ข้อมูลนี้แสดงให้เห็นว่า combined HRT แย่กว่าที่เราคิดเล็กน้อย และการใช้เอสโตรเจนอย่างเดียวอาจปลอดภัยกว่าที่เราคิดเล็กน้อย
          ผู้เข้าร่วมการทดลอง combined HRT โดยทั่วไปใช้ยาประมาณ 5 ปี  จากการติดตามเป็นเวลา 18 ปี ผู้หญิงกลุ่มนี้มีโอกาสมากขึ้นร้อยละ 29 ที่จะเป็นโรคมะเร็งเต้านม
          ผลการค้นพบแสดงว่า ผู้หญิงที่ใช้เอสโตรเจนอย่างเดียวใช้ยาเป็นเวลา 7 ปี จากการติดตามเป็นเวลา 16 ปี ผู้หญิงกลุ่มนี้มีโอกาสน้อยลงร้อยละ 23 ที่จะได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคมะเร็งเต้านม
          แล้วทั้งหมดนั้นหมายความว่าอย่างไร  ด้วยหลักฐานทั้งหมด พบว่า ผู้เชี่ยวชาญได้แนะนำมานานแล้วว่าไม่ให้ผู้หญิงใช้ฮอร์โมนบำบัดเพื่อป้องกันโรคและคำแนะนำนั้นยังคงมีอยู่ Dr. Chlebowski กล่าว
          “คุณไม่ควรใช้การบำบัดด้วยฮอร์โมนเพื่อลดความเสี่ยงต่อโรคเรื้อรัง”  เขากล่าวและว่า “ถ้าอาการร้อนวูบวาบไม่ดีจนคุณอยากจะลองการบำบัดด้วยฮอร์โมน  ขอให้คุยกับแพทย์ถึงผลดีและความเสี่ยงที่มีต่อตัวคุณ”
          Susan Brown ผู้อำนวยการอาวุโสด้านการศึกษาและการสนับสนุนผู้ป่วยจาก Susan G. Komen องค์การไม่แสวงหากำไร กล่าวว่า “มีความจำเป็นต้องดำเนินการศึกษากับประชากรขนาดใหญ่เพื่อทำความเข้าใจถึงผลกระทบที่ซับซ้อนของการบำบัดด้วยฮอร์โมนทดแทนในวัยหมดประจำเดือนที่มีต่อความเสี่ยงและการอุบัติของโรคมะเร็งเต้านม”