‘เนื้อเยื่อผิวหนังมนุษย์’ ใช้รักษาผู้บาดเจ็บไฟไหม้ ลดความเจ็บปวด ลดอัตราการเสียชีวิต

31 ต.ค. 2565 16:09:16จำนวนผู้เข้าชม : 396 ครั้ง

รู้หรือไม่ว่าประเทศไทยมีธนาคารผิวหนัง หรือ คลังผิวหนัง สำหรับรักษาผู้ป่วยที่ถูกไฟไหม้ เพื่อลดความเจ็บปวดและเสียชีวิต มีประสิทธิภาพในการรักษาสูง สามารถปลูกถ่ายผิวหนังข้ามกรุ๊ปเลือดได้
          สภากาชาดไทยได้จัดทำโครงการธนาคารผิวหนัง (skin bank) เป็นครั้งแรกของประเทศไทย และมีระบบการรับบริจาคผิวหนังอย่างครบวงจร โดยก่อนหน้านี้เพจหมอเวรได้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับคลังผิวหนังว่า สภากาชาดฯ มีผิวหนังของคนที่มาบริจาคไว้พร้อมช่วยเหลือคนที่ประสบอุบัติเหตุไฟไหม้ หรือน้ำร้อนลวก ข้อดีของการใช้ผิวหนังจริงแบบนี้มารักษา จะช่วยลดอาการบาดเจ็บและเสียชีวิตลงจากผู้ป่วยไฟไหม้ได้เยอะมาก แต่ยังไม่ค่อยเป็นที่รู้จัก หรือรู้กันอย่างแพร่หลายว่ามีการรักษาด้วยวิธีนี้
          หมอเวรระบุว่า การทำแผลผู้ป่วยไฟไหม้ มันไม่สามารถทำแผลได้ง่าย ๆ เหมือนผู้ป่วยประสบอุบัติเหตุอื่น ๆ เพราะแผลอักเสบจากไฟไหม้นั้นสร้างความเจ็บปวดและทรมานเป็นอย่างมาก เพราะผิวหนังที่ถูกไฟไหม้เบิร์นไปหมดนั้น อย่าว่าแต่เจ็บปวดจากการทำแผลเลย เอาแค่ลมพัดมาโดนร่างกายก็ทรมานทุรนทุรายมาก ๆ แล้ว อีกทั้งแผลไฟไหม้จะทำให้ร่างกายขาดเกราะป้องกันจากเชื้อโรคภายนอก เพราะไม่มีผิวหนังอยู่ และเชื้อโรคจะแทรกผ่านเนื้อเยื่อบริเวณนั้นมาโจมตีเราได้ง่ายมาก ทำให้ส่วนใหญ่ผู้ป่วยไฟไหม้มักจะเสียชีวิตจากการติดเชื้อผ่านผิวหนัง เสียน้ำและเกลือแร่ภายหลังอีกทีได้ด้วย
          สมัยก่อนเมื่อแพทย์เจอเคสคนถูกไฟไหม้ สมมุติโดนเบิร์นด้านหน้าร่างกาย วิธีรักษา คือ แพทย์จะไถเอาผิวหนังจากด้านหลัง เพื่อมาแปะบริเวณที่มันไหม้ ถ้ามีผิวหนังเหลือใช้รักษาได้แค่ไหนก็ทำได้แค่นั้น บริเวณอื่นทำได้เพียงล้างแผล พันผ้าก๊อซ ทำซ้ำแบบนี้ทุกวันเป็นเดือน สร้างความทรมานต่อผู้ป่วยเป็นอย่างมาก ส่วนใหญ่ต้องวางยาสลบก่อนทำแผลด้วยซ้ำ นึกภาพเราแกะสะเก็ดแผลเล็ก ๆ ยังเจ็บเลย แต่ถ้าโดนไฟไหม้มาแล้วแกะผ้าก๊อซทั้งตัวเพื่อล้างแผลทุกวัน คือ เป็นอะไรที่ความเจ็บปวดเกินจินตนาการไปมาก ๆ เก็ตมะ
          - ผิวหนังจริงรักษาผู้ป่วยไฟไหม้
          ถ้าแพทย์ใช้ผิวหนังจริงจากคลังผิวหนังของกาชาดฯ มาปะคนไข้บริเวณที่ถูกไฟคลอกแทนผ้าก๊อซ เทคนิคนี้จะช่วยลดอาการบาดเจ็บดังกล่าวได้หมดเลย รวมถึงทำให้ร่างกายฟื้นฟูได้เร็วขึ้นมาก ๆ การรับบริจาคอวัยวะในอดีตที่ผ่านมา บางส่วนจะมีการเก็บผิวหนังมาเอาไว้สำรองด้วย ทำให้ตอนนี้ที่กาชาดฯ มีคลังเนื้อเยื่อผิวหนังในสต็อกอยู่พอสมควร
          สำหรับขั้นตอนการใช้ผิวหนังเพื่อรักษา คือ แพทย์จะใช้อะไหล่ผิวหนังมาหุ้มแผลที่ถูกไฟไหม้ พูดง่าย ๆ คือ ใช้ผิวหนังจริงแทนผ้าก๊อซนั่นแหละ หลักการใช้เหมือนกันเด๊ะ ทำความสะอาดผิวให้เรียบร้อยก็แปะผิวป๊าบลงไปได้เลย
          ข้อดี คือ ถ้าใช้หนังจริง 7 – 10 วัน ถึงแกะเปลี่ยนผิวหนังรอบนึง ต่างจากผ้าก๊อซที่ต้องแกะล้างแผลทุกวัน สร้างความทรมานให้กับผู้ป่วยมากกกกกกกกกกกกกกกกกกก รวมถึงการใช้ผิวหนังจริงมาหุ้มไว้จะช่วยลดการติดเชื้อและให้เนื้อเยื่อผิวหนังของเราสมานกันเองได้ดีกว่า รวมถึงพอมีชั้นผิวมาคลุมไว้แบบนี้ทำให้ร่างกายไม่สูญเสียโปรตีน แร่ธาตุ และน้ำเหลืองออกมาภายนอก ลดอาการอักเสบ ตัวบวม และเพิ่มโอกาสรอดชีวิตให้กับผู้ป่วยเป็นอย่างมาก
          หากเทียบกับค่าใช้จ่ายผิวหนังแท้กับผ้าก๊อซที่ต้องเปลี่ยนหลายสิบม้วนต่อการรักษาแผลไฟไหม้แล้ว ผิวหนังแท้ถือว่ามีค่าใช้จ่ายที่ถูกและคุ้มค่ากว่า จริงอยู่ที่โลกเรามีเทคโนโลยีผิวหนังเทียมแล้ว แต่ทว่าค่าใช้จ่ายยังมีราคาที่ค่อนข้างสูง ถ้าเป็นผิวหนังจากคลังกาชาดฯ ค่าใช้จ่ายตก 27 บาทต่อตารางเซนติเมตรท่านั้น
          หมอเวรให้ข้อมูลว่า ถ้าเป็น Euro Skin Bank ที่ยุโรป อย่างของเนเธอร์แลนด์คิดที่ 51.80 บาทต่อตารางเซนติเมตร (ตร.ซม.) หรืออย่างเยอรมนีคิดค่าใช้จ่ายอยู่ที่ 64 บาทต่อตารางเซนติเมตร เรียกว่าราคาที่กาชาดไทยเคาะออกมานั้นถูกกว่าต่างประเทศเยอะ และเป็นราคาต้นทุนในการเก็บรักษาผิวหนังล้วน ๆ ไม่เจือปนกำไรแม้แต่สตางค์เดียว
          - ต้องการผิวหนังจริงรักษาผู้ป่วยไฟไหม ติดต่อ สายด่วน 1666 สภากาชาดไทย
          ปัจจุบันที่กาชาดไทยมีผิวหนังอยู่ในสต็อกอยู่เกือบ 100,000 ตารางเซนติเมตร ใช้รักษาได้อีกหลายชีวิต และสามารถเบิกมาใช้ได้ทันทีถ้ามีเหตุต้องการเร่งด่วน ที่สำคัญสำหรับคนไข้บางรายหากไม่มีกำลังทรัพย์รักษาตัวเองจริง ๆ ทางกาชาดก็ให้ความอนุเคราะห์ดูแลค่าใช้จ่ายในส่วนนี้ให้ด้วย
          เอาจริง ๆ จนถึงทุกวันนี้ยังมีคุณหมอที่เพิ่งทราบว่า ประเทศไทยมีคลังผิวหนังที่กาชาดฯ อยู่เป็นประจำ คนส่วนใหญ่และอาจารย์หมอหลาย ๆ ท่านอาจยังไม่ทราบว่ากาชาดคอยช่วยเหลือผู้ป่วยไฟไหม้แบบนี้ด้วย ทำให้คนไข้อาจต้องรักษาด้วยวิธีพันผ้าก๊อซแบบเดิม ทั้งที่ผิวหนังพวกนี้ปลอดภัย ส่วนใหญ่จัดเก็บจากคนที่สมองตาย และบริจาคอวัยวะเอาไว้แล้ว ซึ่งคนที่รับการปลูกถ่ายผิวหนังแบบนี้ก็ไม่ต้องกังวลเรื่องการเข้ากันได้ของผิวหนังใหม่กับร่างกายเดิมเลย สาเหตุก็เพราะว่าผิวหนังแท้เป็นผิวหนังที่ตายแล้ว
          1. สามารถปลูกถ่ายให้กันข้ามกรุ๊ปเลือดได้
          2. ผิวหนังที่เตรียมใช้รอปลูกถ่ายนั้นมีความสะอาดเป็นอย่างมาก ผ่านการฆ่าเชื้อโดยการแช่ผิวหนังในน้ำยาฆ่าเชื้อมาแล้วเป็นอย่างดี สะอาดถึงระดับที่ว่าคนที่ติดเชื้อ HIV เวลาบริจาคผิวหนังทิ้งไว้ น้ำยาที่ใช้จัดเก็บก็สามารถฆ่าเชื้อ HIV ได้เลย ฉะนั้น ปลอดภัยหายห่วงได้เลย
          ถ้าผู้ป่วยเคสไฟไหม้จากเคสผับที่สัตหีบ หรือกรณีเกิดการเบิร์นหรือน้ำร้อนลวก ไม่ว่าจากเหตุการณ์ไหนก็ตาม หากต้องการผิวหนังเพื่อนำมาใช้รักษา แนะนำให้คนไข้หรือญาติแจ้งคุณหมอเจ้าของไข้ผ่านไปทางกาชาดฯ ได้เพื่อติดต่อขอรับผิวหนังจริงได้ตรงไปที่กาชาดฯ เบอร์ 1666 เพื่อเพิ่มโอกาสรอดชีวิตผู้ป่วย
          สำหรับการดำเนินงานของธนาคารผิวหนัง จะเป็นรูปแบบการขอรับบริจาคผิวหนัง เช่นเดียวกับการขอรับบริจาคอวัยวะหรือเนื้อเยื่อต่าง ๆ ซึ่งผิวหนังที่ได้รับบริจาคจะนำไปใช้รักษาให้กับผู้บาดเจ็บมีแผลไฟไหม้ น้ำร้อนลวกรุนแรง เนื่องจากแผลไฟไหม้ผิวหนังชั้นนอกจะถูกทำลาย ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญทำให้เกิดการติดเชื้อ และเกิดพังผืด ทำให้เกิดบาดแผล หดรั้งจนทำให้เกิดความพิการทางร่างกาย และเสี่ยงทำให้เสียชีวิต

          นพ.วิศิษฎ์ ฐิตวัฒน์ ผู้อำนวยการศูนย์รับบริจาคอวัยวะสภากาชาดไทย ให้ข้อมูลผ่านไทยพีบีเอสว่า การรักษาบาดแผลไฟไหม้ น้ำร้อนลวก แพทย์จะกำจัดผิวหนังที่ถูกทำลายออกไปให้หมด รักษาบาดแผลให้ปลอดเชื้อ เตรียมความพร้อมในการปลูกถ่ายผิวหนังลงไปทดแทน ในระหว่างนี้จะต้องใช้วัสดุปิดแผลชั่วคราวเพื่อป้องกันการติดเชื้อ ทำให้แผลสมานตัว เมื่อผิวหนังเริ่มสร้างเซลล์ทดแทนจึงนำวัสดุปิดแผลออก ปัจจุบันวัสดุปิดแผลชั่วคราวที่ใช้อยู่แพร่หลายมีหลายชนิด ทั้งวัสดุชีวภาพ วัสดุสังเคราะห์ วัสดุวิศวกรรม มีลักษณะเป็นแผ่นฟิล์มสีขาวบาง ๆ แต่มีราคาแพง หากสามารถใช้ประโยชน์จากการบริจาคผิวหนังได้ ก็จะสามารถลดต้นทุนและช่วยเหลือชีวิตผู้ป่วยได้มากขึ้น
          ทั้งนี้ ศูนย์รับบริจาคอวัยวะสภากาชาดไทย พร้อมให้บริการผิวหนังสำหรับปลูกถ่ายเพื่อช่วยชีวิตผู้ที่ได้รับบาดเจ็บ ไม่คิดมูลค่า จำนวน 30 คน ตั้งแต่วันนี้ถึง 30 กันยายน 2565 โดยสามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดได้ที่ คลังเนื้อเยื่อ ศูนย์รับบริจาคอวัยวะสภากาชาดไทย โทร. 1666, 0 2256 4045-6 ต่อ 2508, 09 2247 9864 เฉพาะสำหรับโรงพยาบาลที่ต้องการใช้เนื้อเยื่อผิวหนังจากมนุษย์

ขอขอบคุณแหล่งข้อมูล  :  https://workpointtoday.com/skin-bank/