หลังป่วย COVID-19 ปัญหาสุขภาพจิตเพิ่มขึ้น

16 มี.ค 2565 13:53:13จำนวนผู้เข้าชม : 408 ครั้ง

www.cidrap.umn.edu,www.bmj.com, https://medicalxpress.com: ผลการศึกษาขนาดใหญ่ที่สุดเท่าที่เคยมีมานับตั้งแต่เกิดการระบาดใหญ่ทั่วโลกของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรค COVID-19 เมื่อ 3 ปีที่ผ่านมา เกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างการป่วยด้วยโรค COVID-19 และปัญหาที่ตามมาทางด้านสุขภาพจิต ซึ่งได้รับการเผยแพร่ผ่านทางเว็บไซต์ของวารสารการแพทย์ BMJ เมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2565 แสดงให้เห็นว่า ผู้ป่วยที่มีชีวิตรอดจากการติดเชื้อ SARS-CoV-2 ที่เป็นสาเหตุของโรค COVID-19 มีความเสี่ยงสูงถึง 60% ที่จะเกิดกลุ่มอาการทางจิตประสาทและอารมณ์ (mental disorders) ไม่ว่าจะเป็นวิตกกังวล คิดฆ่าตัวตาย ซึมเศร้า ความผิดปกติด้านการนอน การรู้คิด หรือการใช้สารเสพติด เมื่อเทียบกับผู้ที่ไม่ได้ป่วยด้วยโรค COVID-19
          คณะนักวิจัยจาก Washington University School of Medicine ในเมือง St. Louisมลรัฐ Missouri สหรัฐอเมริกา และ Veterans Affairs St. Louis Health Care System ภายใต้การนำของนายแพทย์ Ziyad Al-Aly ได้ทำการศึกษาในเรื่องความสัมพันธ์ดังกล่าว ด้วยการนำเอาข้อมูลของผู้ป่วย COVID-19 จำนวนทั้งสิ้น 153,848 คน ที่มีชีวิตรอดจาก 30 วันแรกของการติดเชื้อ SARS-CoV-2 จากฐานข้อมูลของกระทรวงกิจการทหารผ่านศึกของสหรัฐอเมริกา (Department of Veterans Affairs) ในช่วงวันที่ 1 มีนาคม 2020 จนถึงวันที่ 15 มกราคม  2021 มาวิเคราะห์เปรียบเทียบกับกลุ่มประชากร 2 กลุ่ม ที่ใช้เป็นกลุ่มควบคุม ได้แก่ contemporary group จำนวนทั้งสิ้น 5,637,840 คน จากช่วงเดียวกันของฐานข้อมูลเดียวกันที่ไม่ได้ติดเชื้อ SARS-CoV-2 และ historical control group จำนวนทั้งสิ้น 5,859,251 คน จากฐานข้อมูลเดียวกันแต่เป็นช่วงที่ยังไม่ได้เกิดการระบาดใหญ่ของโรค COVID-19
          ผลการศึกษาเมื่อเปรียบเทียบกับ contemporary group และ historical control group พบว่า กลุ่มผู้ป่วย COVID-19 ที่รอดชีวิตจาก 30 วันแรกของการติดเชื้อ SARS-CoV-2 มีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นที่จะได้รับการวินิจฉัยว่าเป็น mental disorders ใด ๆ ก็ตาม ด้วย hazard ratio 1.46 (95% confidence interval 1.40 to 1.52) หรือราว ๆ 36 ต่อ 1,000 คน ที่ 1 ปี, มีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นของการเกิด anxiety disorders ด้วย hazard ratio 1.35 (95% confidence interval 1.30 to 1.39) หรือราว ๆ 11 ต่อ 1,000 คน ที่ 1 ปี, มีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นของการเกิด depressive disorders ด้วย hazard ratio 1.39 (95% confidence interval  1.34 to 1.43) หรือราว ๆ 15 ต่อ 1,000 คน ที่ 1 ปี, มีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นของการเกิด stress and adjustment disorders ด้วย hazard ratio 1.38 (95% confidence interval 1.34 to 1.43) หรือราว ๆ 13 ต่อ 1,000 คน ที่ 1 ปี, มีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นของการใช้สารเสพติดใด ๆ ก็ตาม ด้วย hazard ratio 1.24 (95% confidence interval 1.16 to 1.32) หรือราว ๆ 2 ต่อ 1,000 คน ที่ 1 ปี, มีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นของการเกิด sleep disorders ด้วย hazard ratio 1.41 (95% confidence interval 1.38 to 1.45) หรือราว ๆ 23 ต่อ 1,000 คน ที่ 1 ปี และมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นของการเกิด neurocognitive decline ด้วย hazard ratio 1.80 (95% confidence interval 1.72 to1.89) หรือราว ๆ 10 ต่อ 1,000 คน ที่ 1 ปี