สมศักดิ์ รับยื่น 5 ข้อเสนอจาก “สมาพันธ์คนไร้บ้านไทย” ช่วยจัด “บริการสุขภาพเฉพาะกลุ่ม” ดูแล “คนไร้บ้านเข้าถึงสิทธิบัตรทอง ได้รับบริการสุขภาพพื้นฐานอย่างเท่าเทียม พร้อมเสนอตั้ง “คณะทำงานฯ” เพื่อขับเคลื่อนการให้บริการในระดับพื้นที่ และจัดบริการเชิงรุก
นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) และประธานกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) รับยื่น “ข้อเสนอเพื่อการจัดบริการสุขภาพที่เหมาะสมสำหรับคนไร้บ้าน” จาก น.ส.อารียา สุปรียาพร ในฐานะแกนนำ พร้อมด้วยตัวแทนสมาพันธ์คนไร้บ้านไทย (Thai Homeless Confederation) โดยมี นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ร่วมรับข้อมูล ก่อนการประชุมคณะกรรมกาหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) เมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม 2568 ที่ผ่านมา ณ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.)
นายสมศักดิ์ กล่าวว่า ข้อเสนอที่ได้รับจากสมาพันธ์คนไร้บ้านไทยนี้ จะนำไปประสานงานต่อกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เนื่องจากปัญหาการจัดบริการสุขภาพที่เหมาะสมสำหรับกลุ่มคนไร้บ้าน จากที่ได้รับฟังปัญหามาเห็นว่าค่อนข้างมีความซับซ้อน และหลายๆ ประเด็นก็ไม่ได้อยู่ในความดูแลของ สปสช. โดยตรงแต่อย่างใด อย่างไรก็ดีในฐานะประธานบอร์ด สปสช. เล็งเห็นว่าปัญหาการเข้าไม่ถึงบริการสุขภาพของกลุ่มคนไร้บ้าน ส่วนใหญ่มากจากปัญหาเรื่องการยืนยันตัวตน เนื่องจากบางคนไม่มีบัตรประชาชนหรือหลักฐานในการแสดงตัวตน ทั้งยังมีการย้ายที่อยู่ ส่งผลให้เกิดความเหลื่อมล้ำในการเข้ารับบริการ จึงต้องใช้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาร่วมกันแก้ไขปัญหานี้
อย่างไรก็ดี สปสช. อาจทำหน้าที่เป็นหน่วยงานในการประสานงานเรื่องนี้ไปยังหน่วยงานต่างๆ เพื่อแก้ไขปัญหาให้กับกลุ่มคนไร้บ้าน เพื่อให้สามารถเข้าถึงบริการด้านสุขภาพที่ทั่วถึงและเท่าเทียมต่อไป
นพ.จเด็จ กล่าวว่า ในกลุ่มประชากรที่เป็นคนไร้บ้าน แม้ว่าสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง 30 บาท) จะให้ความคุ้มครองสิทธิ มีหลักประกันสุขภาพในการเข้ารับบริการไม่ต่างจากประชาชนทั่วไป แต่ในทางปฏิบัติอาจยังเป็นปัญหา ด้วยเป็นประชากรที่มีความจำเพาะทั้งการดำเนินชีวิตและที่อยู่อาศัยที่อาจไม่เป็นหลักแหล่ง ดังนั้นในการดูแลเพื่อให้เกิดการเข้าถึงบริการสุขภาพที่จำเป็น รวมถึงบริการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค จำเป็นต้องร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่ง สปสช. จะนำเรื่องที่ได้รับมานี้ มาพิจารณาเพื่อหาช่องทางในการดำเนินการ โดยประสานความร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องต่อไป
ขณะที่ น.ส.อารียา กล่าวถึงข้อเสนอที่ได้ยื่นในวันนี้ว่า สาระสำคัญของการยื่นหนังสือในครั้งมีเป้าหมายสำคัญเพื่อสะท้อนข้อจำกัดด้านบริบทภายนอกของคนไร้บ้าน ที่มักเป็นอุปสรรคต่อการเข้ารับบริการทางการแพทย์ในหน่วยบริการต่างๆ ส่งผลให้คนไร้บ้านจำนวนมาก ไม่สามารถเข้าถึงบริการตามสิทธิได้อย่างแท้จริง แม้จะมีสิทธิในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง 30 บาท)
“สิ่งสำคัญที่ทำให้สมาพันธ์ฯ เดินทางมายื่นข้อเสนอในวันนี้ มาจากบริการด้านสุขภาพในปัจจุบัน ที่ยังไม่สอดคล้องกับวิถีชีวิตของกลุ่มคนไร้บ้าน ซึ่งมีลักษณะการใช้ชีวิตแบบเคลื่อนย้ายตลอดเวลาและไม่อยู่กับที่ จึงเล็งเห็นว่าจำเป็นต้องมีหน่วยงานที่สามารถให้บริการเชิงรุกในพื้นที่ต่างๆ โดยสมาพันธ์ฯ เสนอให้ สปสช. รับบทบาทเป็นกลไกหลักในการจัดบริการสุขภาพเฉพาะกลุ่มสำหรับคนไร้บ้าน เพื่อให้เข้าถึงสิทธิด้านสุขภาพได้อย่างเป็นธรรมและทั่วถึง” ตัวแทนสมาพันธ์คนไร้บ้านไทย กล่าว
น.ส.อารียา กล่าวอีกว่า ภายหลังจากยื่นข้อเสนอต่อ นายสมศักดิ์ แล้วหลังจากนี้จะดำเนินงานแก้ไขปัญหาร่วมกับ สปสช. โดยจะมุ่งเน้นการติดตามและขับเคลื่อน 2 ประเด็นหลัก ได้แก่ 1. กลไกการทำงานในระดับพื้นที่ สำหรับกลุ่มเป้าหมาย 3 กลุ่ม 2. การลงพื้นที่เชิงรุก เพื่อติดตามปัญหาการเข้าถึงบริการสุขภาพของพี่น้องคนไร้บ้านในแต่ละพื้นที่
ทั้งนี้ สาระสำคัญของข้อเรียกร้องของสมาพันธ์คนไร้บ้าน ที่นำมายื่นหนังสือในครั้งนี้ มีจำนวน 5 ข้อ ประกอบด้วย
1. ให้ สปสช. เป็นเจ้าภาพที่พัฒนากลไกการทำงานร่วมกับสมาพันธ์คนไร้บ้านไทย ในรูปแบบคณะทำงานภายใต้คณะอนุกรรมการส่งเสริมการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน ในการสร้างหลักประกันสุขภาพ เพื่อให้คนไร้บ้านเข้าถึงหลักประกันสุขภาพอย่างเท่าเทียม โดยอาจมีการจัดตั้งบริการด้านสุขภาพที่เฉพาะเจาะจงกับกลุ่มคนไร้บ้านทั้ง 3 ประเภท ได้แก่ กลุ่มคนไร้บ้านในพื้นที่สาธารณะ, กลุ่มคนไร้บ้านในศูนย์พักฟื้น และ กลุ่มแรงงานย้ายถิ่น
2. ให้ สปสช. ประสานความร่วมมือกับหน่วยงานส่วนท้องถิ่นในการบริหารจัดการ และดำเนินการให้คนไร้บ้านเข้าถึงบริการการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค โดยไม่จำกัดสิทธิหรือถูกเลือกปฏิบัติ ไม่จำกัดพื้นที่การใช้บริการของหน่วยบริการสุขภาพแบบเฉพาะเจาะจงของเขตบริการสุขภาพ โดยคนไร้บ้านและประชาชนทุกคนที่ไม่ว่าจะมีสัญชาติหรือรูปแบบสิทธิใด จะต้องได้รับการรักษาพยาบาลในกรณีฉุกเฉินทุกรูปแบบ
3. ให้ สปสช. ดำเนินการประสานงานกับหน่วยงานส่วนท้องถิ่นให้การรับรองและสนับสนุนบริการด้านสุขภาพเพิ่มเติมเฉพาะสำหรับกลุ่มคนไร้บ้าน พร้อมทั้งพัฒนาจุดพักฟื้นฉุกเฉินกลางเมือง เพื่อเป็นการรองรับกลุ่มคนไร้บ้านที่อยู่ในระยะพักฟื้นจากการรักษาระยะยาว โดยเฉพาะภายในศูนย์พักคนไร้บ้าน, จุดประสานงานคนไร้บ้าน และการพัฒนาศักยภาพคนทำงาน
4. ให้ สธ. และ สปสช.เชื่อมโยงและพัฒนาฐานข้อมูลกลางด้านสิทธิการรักษาพยาบาล และประวัติการรักษาจากทุกหน่วยบริการสำหรับผู้มีสิทธิบัตรทองให้เป็นระบบเดียวกัน เพื่อให้ประชาชนทุกคนได้รับสิทธิการบริการที่รวดเร็ว และลดขั้นตอนที่ซับซ้อนของงานเอกสารและภาระเรื่องการเดินทาง
5. ให้ สธ. และกรุงเทพมหานคร ร่วมมือกันสร้างบริการเชิงรุกแก่คนไร้บ้าน โดยให้ศูนย์บริการสาธารณสุขในพื้นที่ออกหน่วยบริการเคลื่อนที่แบบครบวงจร พร้อมกับดำเนินงานร่วมมือกับศูนย์พักคนไร้บ้านและชุมชน ในการคัดกรองและประเมินการใช้วัสดุอุปกรณ์ที่มีความจำเป็นในรายบุคคล อาทิ ผ้าอ้อมผู้ใหญ่ เพื่อให้คนไร้บ้านที่เป็นผู้สูงอายุมีคุณภาพชีวิตที่ดีตามที่ควรเป็น