
ทีมนักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัย King Abdullah University of Science and Technology (KAUST) ประสบความสำเร็จในการพัฒนาเครื่องตรวจจับรังสีเอกซ์แบบใหม่ที่มีความไวสูง พับได้ และใช้ปริมาณรังสีต่ำลงอย่างมาก แต่ได้ภาพคุณภาพสูง
งานวิจัยนี้เผยแพร่ในวารสาร ACS Central Science โดยระบุว่า เทคโนโลยีใหม่นี้อาจเปลี่ยนโฉมการถ่ายภาพทางการแพทย์และการตรวจสอบในอุตสาหกรรม ด้วยการเพิ่มความปลอดภัยและประหยัดพลังงาน Dr. Omar F. Mohammed หัวหน้าทีมวิจัย อธิบายว่า นวัตกรรมหลักอยู่ที่การออกแบบวงจรไฟฟ้าใหม่ในผลึก perovskite แบบ cascade ซึ่งช่วยลด “dark current” หรือสัญญาณรบกวนในตัวเครื่องลงอย่างมาก ส่งผลให้การตรวจจับรังสีไวขึ้นถึง 5 เท่า เมื่อเทียบกับเทคโนโลยีก่อนหน้า
ความไวที่เพิ่มขึ้นทำให้สามารถสร้างภาพความละเอียดสูงจากรังสีในปริมาณที่น้อยลงได้ เช่น ภาพถ่ายของปลายเข็มโลหะในผลราสเบอร์รี หรือชิ้นส่วนภายในของสาย USB ซึ่งแสดงให้เห็นถึงศักยภาพในการตรวจจับรายละเอียดเล็กมาก ทั้งในทางการแพทย์และอุตสาหกรรม
จุดเด่นอีกข้อคือ ความสามารถในการพับเก็บของอุปกรณ์ ซึ่งเปิดทางสู่การพัฒนาเครื่อง X-ray แบบพกพาที่ปลอดภัย มีประสิทธิภาพ และประหยัดพลังงาน เทคโนโลยีใหม่นี้จึงเป็นก้าวสำคัญสู่การลดความเสี่ยงจากรังสี ขณะยังคงความแม่นยำของภาพไว้ได้ และอาจนำไปสู่การใช้งานอย่างกว้างขวางในโรงพยาบาล โรงงาน และสนามบินทั่วโลก
การใช้รังสีเอกซ์จะเป็นเรื่องปกติในการตรวจฟัน สแกนกระเป๋าในสนามบิน และงานทางการแพทย์ แต่การสัมผัสซ้ำๆ กับรังสีในปริมาณสูงอาจก่ออันตรายต่อผู้ป่วยและเจ้าหน้าที่ การลดปริมาณรังสีโดยไม่ลดคุณภาพภาพจึงเป็นสิ่งที่นักวิจัยทั่วโลกให้ความสำคัญ