จากการศึกษาเปรียบเทียบคำแนะนำเบื้องต้นของปัญญาประดิษฐ์ในการวิเคราะห์และวินิจฉัยโรคกับคำแนะนำขั้นสุดท้าย
ของแพทย์ที่เข้าถึง AI โดยที่อาจจะทำตามหรือไม่ทำตามคำแนะนำของ AI ก็ได้ ทำให้นักวิจัยอิสราเอลได้ข้อสรุปว่า คำแนะนำของ AI มักจะมีคุณภาพดีกว่า
วารสาร Annals of Internal Medicine ฉบับวันที่ 4 เมษายน ค.ศ.2025 เผยแพร่งานศึกษาตามรุ่นย้อนหลัง (retrospective cohort study) เกี่ยวกับการดูแลรักษาผู้ป่วยระบบทางเดินหายใจ ทางเดินปัสสาวะ ช่องคลอด ตา หรืออาการต่างๆ เกี่ยวกับช่องปากและฟัน ของแพทย์ที่เข้าถึงระบบ AI โดยนำข้อมูลของการวินิจฉัยและคำแนะนำเบื้องต้นของระบบ AI เกี่ยวกับการรักษา มาเปรียบเทียบกับคำวินิจฉัยและชี้แนะการรักษาในขั้นสุดท้ายของแพทย์ที่รับผิดชอบผู้ป่วยนั้นๆซึ่งบางคนอาจจะไม่ได้นำคำแนะนำจาก AI มาใช้เลย
ปรากฏว่า ในการตรวจผู้ป่วยทั้งในช่องทางออนไลน์และการเข้าถึงผู้ป่วยโดยตรง 461 ครั้งตั้งแต่วันที่ 12 มิถุนายนถึง 14 กรกฎาคม 2024 นักวิจัยพบว่า คำแนะนำเบื้องต้นของ AI เหมาะสมกว่าคำแนะนำในขั้นสุดท้ายของแพทย์ (77.1% ต่อ 67.1%) ส่วนคะแนนคุณภาพการดูแลรักษาด้วยระบบ AI อยู่ที่ 20.8% ขณะที่คุณภาพการดูแลรักษาของแพทย์อยู่ที่ 11.3% ของเคสทั้งหมด นักวิจัยจึงสรุปว่า AI ช่วยเสริมจุดแข็งของแพทย์ได้ โดยเฉพาะในการตัดสินใจเพื่อใช้วิธีรักษาที่ดีขึ้นในสภาพแวดล้อมการดูแลผ่านระบบออนไลน์