กินยาปฏิชีวนะไม่ครบ ทำไมเชื้อจึงดื้อยา

ยาปฏิชีวนะ (Antibiotics) เป็นยาที่ใช้ฆ่าเชื้อหรือยับยั้งการเติบโตของเชื้อแบคทีเรีย ใช้รักษาเฉพาะโรคที่เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียเท่านั้น มีหลายชนิด หลายกลุ่ม ซึ่งแต่ละกลุ่มก็จะสามารถรักษาอาการติดเชื้อในแต่ละบริเวณของร่างกายได้แตกต่างกันไป เมื่อเรากินยาปฏิชีวนะเข้าไปจำนวนหนึ่ง ยาจะไปทำลาย หรือยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อ ทำให้เชื้อลดจำนวนลงและส่งผลให้อาการต่าง ๆ เริ่มดีขึ้น แต่หากเราหยุดกินยาปฏิชีวนะก่อนครบกำหนดหรือกินยาไม่สม่ำเสมอจะทำให้ปริมาณยาในร่างกายไม่เพียงพอที่จะกำจัดเชื้อให้เหลือน้อยจนโรคหรืออาการติดเชื้อต่าง ๆ หายขาด เชื้อจะแบ่งตัวเพิ่มจำนวนอีกแล้วเกิดการเป็นซ้ำ หรืออาจทำให้เกิดสิ่งที่เรียกว่า “การดื้อยา” ได้ ซึ่งโดยปกติเชื้อส่วนใหญ่จะเป็นเชื้อธรรมดาที่ไม่ดื้อยา แต่จะมีเชื้อแบคทีเรียจำนวนหนึ่งที่เกิดการเปลี่ยนแปลงทางพันธุกรรมทำให้เชื้อเกิดการดื้อยาขึ้น ทำให้ยาปฏิชีวนะชนิดเดิมไม่สามารถทำลายเชื้อที่ดื้อยาได้ ทำได้เพียงกำจัดเชื้อที่ยังไม่ดื้อยา เชื้อดื้อยาที่ยังเหลืออยู่ก็จะเพิ่มจำนวนขึ้นและทำให้อาการของโรคกลับมาเป็นซ้ำ และเชื้อที่ดื้อยานี้ยังสามารถถ่ายทอดพันธุกรรมที่ดื้อยาให้แก่เชื้อตัวอื่นได้อย่างรวดเร็ว ทำให้เชื้อดื้อยามีจำนวนมากขึ้น นอกจากนี้การกินยาไม่สม่ำเสมอก็ทำให้เชื้อที่ไม่ดื้อยาสามารถพัฒนากลายเป็นเชื้อที่ดื้อยาได้


เมื่อเกิดการดื้อยาขึ้นแล้วจะทำให้ยาชนิดเดิมหรือขนาดเดิมไม่สามารถที่จะใช้รักษาได้ อาจต้องเพิ่มขนาดยาหรือระยะเวลาในการรักษาหรือแม้กระทั่งต้องเปลี่ยนชนิดของยาปฏิชีวนะเป็นยาปฏิชีวนะกลุ่มอื่นแทน ซึ่งอาจเป็นยากลุ่มที่ควรจะเก็บไว้ใช้สำหรับการติดเชื้อที่รุนแรง ทำให้ในอนาคตหากเกิดการติดเชื้อที่รุนแรงจะทำให้โอกาสที่เชื้อจะดื้อยาตัวใหม่ก็เพิ่มขึ้นและยังทำให้เหลือจำนวนตัวเลือกของยาปฏิชีวนะที่มีประสิทธิภาพในการรักษาน้อยลง


ดังนั้นควรกินยาปฏิชีวนะติดต่อกันให้ครบตามที่แพทย์หรือเภสัชกรแนะนำ และหากเกิดอาการเจ็บป่วยที่สงสัยว่าเป็นการติดเชื้อแบคทีเรียจึงควรไปพบแพทย์หรือปรึกษาเภสัชกร เพื่อให้ช่วยประเมินอาการและความจำเป็นในการใช้ยาปฏิชีวนะ


 


09/07/2568


 


ข้อมูลอ้างอิง
ยาฆ่าเชื้อกินไม่ครบ ทำไมจึงดื้อยา | คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล. (2014). Retrieved May 23, 2024, from
ยาฆ่าเชื้อ..กินไม่ครบ ทำไมจึงดื้อยา | เพจ สุขภาพดีไม่มีในขวด. (2020). Retrieved May 23, 2024, from
ความเชื่อผิด ๆ เกี่ยวกับการกิน ยาฆ่าเชื้อ | คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล. (2022). Retrieved May 23, 2024, from
พฤติกรรมเสี่ยงที่ทำให้เกิด “เชื้อดื้อยา” | คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล. (2019). Retrieved May 23, 2024, from

ที่มา https://oryor.com/media/infoGraphic/media_printing/2386