แผลที่กระจกตา สาเหตุ การรักษา

รพ.เมตตาประชารักษ์ (วัดไร่ขิง) กรมการแพทย์ ชี้ “แผลที่กระจกตา” เป็นภาวะที่เกิดจากกระจกตาเกิดการอักเสบหรือ มีบาดแผล ซึ่งมีหลายปัจจัยที่ทำให้เกิดไม่ว่าจะเป็นการใส่คอนแทคเลนส์เป็นเวลานาน การใส่คอนแทคเลนส์ไม่ถูกวิธี หรือใส่ค้างคืนหรือการขยี้ตารุนแรงก็อาจเป็นสาเหตุได้ นอกจากนี้ผู้ที่มีภาวะตาแห้งหรือภูมิแพ้อาจมีความเสี่ยง นอกจากนี้เศษฝุ่น ทราย โลหะเล็ก ๆ อาจนำไปสู่การอักเสบและติดเชื้อได้


นายแพทย์ไพโรจน์ สุรัตนวนิช รองอธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวถึง ปัจจุบันการใส่คอนแทคเลนส์ได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายทั้งในด้านความสวยงามและการแก้ไขสายตา อย่างไรก็ตาม การใช้คอนแทคเลนส์อย่างไม่ถูกต้อง โดยเฉพาะการใส่ติดต่อกันเป็นเวลานาน โดยเฉพาะในกลุ่มที่ใส่เลนส์นานเกินไปโดยไม่ถอดพัก หรือไม่รักษาความสะอาดอย่างเหมาะสมอาจก่อให้เกิดปัญหาร้ายแรงต่อดวงตา เช่น "แผลที่กระจกตา" ซึ่งจำเป็นต้องได้รับความเข้าใจและดูแลอย่างถูกวิธี แนะหากมีอาการปวดตา แสบตา ตามัวลง แพ้แสง น้ำตาไหล ตาแดง ควรรีบพบจักษุแพทย์ เพราะหากปล่อยไว้อาจทำให้สูญเสียการมองเห็นได้


นายแพทย์กิตติวัฒน์ มะโนจันทร์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลเมตตาประชารักษ์ (วัดไร่ขิง) กล่าวว่า กระจกตาเป็นส่วนที่อยู่ด้านหน้าสุดของลูกตา มีหน้าที่รับแสงและโฟกัสภาพเข้าสู่จอประสาทตา เมื่อกระจกตาเกิดบาดแผล ไม่ว่าจะเล็กหรือใหญ่ ก็ส่งผลกระทบต่อการมองเห็นทันที สาเหตุหลักของการเกิดแผลที่กระจกตาที่พบบ่อยคือ การติดเชื้อ โดยเฉพาะเชื้อแบคทีเรียที่มากับคอนแทคเลนส์ที่ไม่สะอาด ซึ่งมักพบในผู้ที่มีบาดแผลที่กระจกตาอยู่ก่อนแล้ว นอกจากนี้ยังมีการบาดเจ็บทางกายภาพ เช่น เศษฝุ่น หรือวัตถุแปลกปลอมเข้าตา ซึ่งอาจนำไปสู่การอักเสบและติดเชื้อในที่สุด


นายแพทย์วีรภัทร อุดมวงศ์ จักษุแพทย์ด้านกระจกตาและการแก้ไขสายตาผิดปกติ กล่าวเสริมว่า การใส่คอนแทคเลนส์เป็นเวลานาน หรือไม่ถอดเลนส์เลยทั้งวันทั้งคืน โดยเฉพาะใส่นอน เป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญที่ทำให้เกิดแผลที่กระจกตา เนื่องจากกระจกตาจะขาดออกซิเจนและความชื้น นำไปสู่การเสื่อมสภาพของเซลล์ผิวกระจกตา เกิดแผลถลอกที่กระจกตา เพิ่มความเสี่ยงต่อการติดเชื้อ โดยเฉพาะเชื้อแบคทีเรียและอะมีบาในน้ำที่ไม่สะอาด ซึ่งอาจทำให้เกิดแผลลุกลามได้อย่างรวดเร็ว และรุนแรงถึงขั้นตาบอดถาวรได้ การรักษาแผลที่กระจกตาจะขึ้นอยู่กับสาเหตุและความรุนแรงของแผล หากเป็นแผลตื้นจากการระคายเคืองหรือการขีดข่วนเล็กน้อย อาจใช้ยาฆ่าเชื้อหยอดตาร่วมกับน้ำตาเทียม และแนะนำให้พักการใช้คอนแทคเลนส์จนกว่าแผลจะหายสนิท แต่หากเป็นแผลติดเชื้อหรือแผลลึก จักษุแพทย์จะต้องตรวจเชื้อและให้ยาฆ่าเชื้อที่จำเพาะมากขึ้น และหยอดบ่อยขึ้น ซึ่งหากกระจกตาเกิดเสียหายรุนแรงถึงขั้นพร่ามัวถาวร อาจพิจารณาการผ่าตัดเปลี่ยนกระจกตา การเกิดแผลที่กระจกตาเป็นปัญหาสุขภาพตาที่ควรใส่ใจ หากละเลยอาจนำไปสู่การสูญเสียการมองเห็นอย่างถาวรได้ ดังนั้นสิ่งสำคัญการใส่คอนแทคเลนส์อย่างปลอดภัยควรมีวินัยในการใช้งาน ถอดล้างและแช่น้ำยาอย่างถูกต้อง หลีกเลี่ยงการใส่ข้ามคืน และไม่ควรใส่เลนส์นานเกินวันละ 8 ชั่วโมง หากมีอาการผิดปกติ เช่น เคืองตา แสบตา ตามัว หรือปวดตา ควรรีบพบจักษุแพทย์ทันที เพื่อป้องกันไม่ให้แผลที่กระจกตากลายเป็นปัญหาถาวรในระยะยาว การป้องกันที่ดีที่สุดคือการดูแลสุขอนามัยของดวงตา หลีกเลี่ยงการสัมผัสตาโดยตรง หมั่นตรวจสุขภาพตา และหากมีอาการผิดปกติ ควรรีบพบจักษุแพทย์เพื่อการวินิจฉัยและรักษาอย่างเหมาะสม


 


นายแพทย์วีรภัทร อุดมวงศ์
จักษุแพทย์ด้านกระจกตาและการแก้ไขสายตาผิดปกติ
4 กรกฎาคม 2568