
โรงพยาบาลราชวิถี กรมการแพทย์ เผย โรคไตในระยะเริ่มต้นอาจไม่มีอาการแสดงออกมาให้เห็น แต่ไม่ควรมองข้าม หากมีความเสี่ยง หรือพฤติกรรมที่เคยชินที่อาจส่งผลต่อการทำงานของไต เช่น ผู้ป่วยโรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง จะได้วินิจฉัยและควรได้รับการตรวจคัดกรองโรคไตรวมถึงการดูแลตัวเองอย่างถูกวิธี จะช่วยชะลอการเสื่อมของไตได้
นายแพทย์สกานต์ บุนนาค รองอธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า ปัจจุบันสถานการณ์ของโรคไตในประเทศไทยเพิ่มขึ้น อย่างรวดเร็ว โดยมีอัตราการเพิ่มขึ้นของผู้ป่วยแบบก้าวกระโดด นับเป็นปัญหาสาธารณสุขและมีผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศ เป็นอย่างมาก นอกจากนี้ยังพบว่าผู้ป่วยโรคเบาหวาน และโรคความดันโลหิตสูง หรือผู้ป่วยที่รับประทานยาที่อาจส่งผลต่อการทำงานของไต โดยเฉพาะกลุ่มยาต้านการอักเสบ (NSAIDs) ทานยาสมุนไพร หรือได้รับยาบำบัดทางเคมีบำบัดที่มีผลต่อไต ดังนั้นผู้ที่มีความเสี่ยงควรหมั่นตรวจเช็กร่างกาย หรือสังเกตความผิดปกติของร่างกายเป็นประจำ
นายแพทย์จินดา โรจนเมธินทร์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลราชวิถี กล่าวต่อว่า โรคไตเป็นปัญหาใหญ่ทั่วโลกในรอบหลายปีที่ผ่านมา สามารถเกิดขึ้นได้กับทุกเพศทุกวัย และคนไทยมีแนวโน้มป่วยโรคไตเพิ่มมากขึ้น หากไม่ได้รับการตรวจหาสาเหตุและการรักษาที่เหมาะสม อาจนำไปสู่การเกิดโรคไตเรื้อรังและเกิดภาวะแทรกซ้อนจากโรคตามมาได้ สัญญาณของโรคไตที่สำคัญคือ ตัวบวม เท้าบวม เหนื่อยง่าย อ่อนเพลีย ปวดหลัง ปวดบั้นเอว ปัสสาวะมีฟอง ปัสสาวะมีเลือดปนหรือเป็นสีน้ำล้างเนื้อ รวมถึงมีความดันโลหิตสูงมาก จึงต้องมีการตรวจสุขภาพประจำปี เพื่อหาความเสี่ยงของโรคไตในระยะเริ่มต้น เพื่อให้รักษาได้ทันท่วงทีและหลีกเลี่ยงพฤติกรรมเสี่ยง ที่อาจทำให้ประสิทธิภาพการทำงานของไตลดลง
รศ.พญ.วรางคณา พิชัยวงศ์ นายแพทย์เชี่ยวชาญ กลุ่มงานอายุรศาสตร์ โรงพยาบาลราชวิถี กล่าวเพิ่มเติมว่า โรคไตเกิดได้จากปัจจัยหลายสาเหตุ และกลุ่มที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคไต ได้แก่
1.ผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น ความดันโลหิตสูง เบาหวาน หรือไขมันในเลือดสูง
2.ผู้สูงอายุ 60 ปี ขึ้นไป
3.คนที่น้ำหนักเกินมาตรฐาน หรือเป็นโรคอ้วน
4.ผู้ที่คนในครอบครัวมีประวัติเป็นโรคไต
5.คนที่สูบบุหรี่เป็นประจำทุกวัน
6.ผู้ที่ใช้กลุ่มยาต้านการอักเสบ (NSAIDs) เป็นประจำ
ที่สังเกตได้คือ ปัสสาวะมีความผิดปกติ เช่น มีฟองมากและมีเลือดเจือปน ปวดหลังหรือบั้นเอวข้างใดข้างหนึ่ง มีอาการบวมตามจุดต่าง ๆ ของร่างกาย เช่น หน้าบวม ตาบวม หรือเท้าบวม เป็นต้น การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการรับประทานอาหาร เช่น รักษาระดับน้ำตาลในเลือด และความดันโลหิตให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ งดอาหารหมักดอง รวมถึงการควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์ นอกจากนี้ควรงดการสูบบุหรี่และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ หลีกเลี่ยงการใช้ยาแก้ปวด ยาสมุนไพรที่ไม่ทราบสรรพคุณ พร้อมกับ ใส่ใจสุขภาพตนเอง เพื่อลดความเสี่ยงที่จะทำให้เกิดโรคการตรวจเลือด ดูการทำงานของไตและการตรวจปัสสาวะ ถือว่ามีความจำเป็นอย่างยิ่ง ภาวะไตวายมี 2 ชนิด ได้แก่
1.โรคไตเฉียบพลัน มักเกิดจากภาวะขาดน้ำ การติดเชื้อ หรือการได้รับสารพิษ การรักษามุ่งเน้นไปที่การแก้ไขสาเหตุของโรคและการรักษาตามอาการ เช่น การให้ยาปฏิชีวนะหากมีการติดเชื้อ การให้สารน้ำหากขาดน้ำ หยุดยา หรือสารที่เป็นพิษต่อไต
2.โรคไตเรื้อรัง มักเกิดจากการเป็นโรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง โรคไตอักเสบ หรือโรคทางพันธุกรรม การรักษามุ่งเน้นไปที่การชะลอการเสื่อมของไตและการรักษาภาวะแทรกซ้อนต่างๆ เช่น ความดันโลหิตสูง ภาวะบวมน้ำ ภาวะเลือดเป็นกรด ภาวะโลหิตจาง ภาวะกระดูกพรุน เป็นต้น ส่วนมากมีความจำเป็นต้องได้รับการบำบัดทดแทนไต มีแนวทางการรักษาได้ 4 ทาง ได้แก่
1.การล้างไตช่องท้อง
2.การฟอกเลือด การฟอกไตทางหลอดเลือด เป็นการบำบัดทดแทนไต ที่ใช้ในการรักษาโรคไตเรื้อรังระยะสุดท้าย โดยนำเลือดออกจากร่างกายไปฟอกด้วยเครื่องฟอกไต ซึ่งจะทำหน้าที่กำจัดของเสียและน้ำส่วนเกินออกจากเลือด แล้วนำเลือดกลับเข้าสู่ร่างกาย ผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังระยะสุดท้ายจำเป็นต้องฟอกไต เป็นประจำสัปดาห์ละ 2-3 ครั้ง
3.การปลูกถ่ายไต เป็นการรักษาที่มีประสิทธิภาพมากที่สุด ในผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังระยะสุดท้าย
4.การรักษา แบบประคับประคอง ทั้งนี้หากพบว่าตนเองมีความเสี่ยงเป็นโรคไต ดังนั้นควรให้พบแพทย์เฉพาะทางเพื่อการตรวจคัดกรอง เพื่อไม่ให้พัฒนาไปสู่โรคไตเรื้อรังระยะสุดท้ายในที่สุด
3 กรกฎาคม 2568
