
อาการเครียด คือ จุดเริ่มต้นของโรคร้ายมากมายสามารถเกิดได้กับทุกคน ทุกเพศทุกวัย เพราะในแต่ละวันต้องพบเจอปัญหาทั้งเรื่องงาน เรื่องเรียน และชีวิตส่วนตัวจนเกิดเป็นความเครียดสะสม บางคนสามารถจัดการกับความเครียดได้ แต่บางคนสะสมความเครียดจนมีอาการปวดท้องและคลื่นไส้จนเกิดโรคที่เรียกกันว่า โรคเครียดลงกระเพาะ ซึ่งโรคนี้เกิดจากความเครียดที่เป็นปัจจัยหนึ่งที่ไปกระตุ้นให้กระเพาะอาหารมีความไวต่อสิ่งกระตุ้นจนทำให้เกิดอาการผิดปกติได้ง่ายกว่าคนทั่วไป
สัญญาณเตือนเมื่อเครียดเกินไป
- หายใจเร็ว รูจมูกขยาย จากการที่ปอดขยายตัวสร้างออกซิเจนสู่กล้ามเนื้อมากขึ้น ต้องการช่องทางเดิน อากาศที่กว้างมากขึ้น
- ขนลุก เนื่องจากเส้นเลือดฝอยใต้ผิวหนังหดตัว
- อยากอาหารมากกว่าปกติ เนื่องจากต่อมไทรอยด์หลั่งฮอร์โมนเร่งการเผาผลาญอาหารออกมามาก ทำให้ร่างกายถูกกระตุ้นจนอยากอาหาร
- คลื่นไส้ เนื่องจากการเคลื่อนไหวของกระเพาะอาหารรวมถึงลำไส้เล็กแปรปรวนไป
- รู้สึกหงุดหงิดง่าย นอนไม่หลับหรือนอนมากเกินไป
ทำไมเครียดลงกระเพาะ ?
- ระบบประสาทอัตโนมัติ คือ ระบบประสาทที่ทำหน้าที่ควบคุมการทำงานของอวัยวะภายในของร่างกาย ให้อยู่ในสภาพปกติ เช่น หัวใจ การหายใจ กระเพาะอาหาร และลำไส้ ไปกระตุ้นต่อมหมวกไตให้หลั่ง-ฮอร์โมนอะดรีนาลีนออกมามากกว่าปกติ
- ต่อมไทรอยด์หลั่งฮอร์โมนเร่งปฏิกิริยาการเผาผลาญอาหารออกมามาก ทำให้นอนไม่หลับและหิว
- ความเครียดทำให้การทำงานของกระเพาะอาหารและลำไส้หยุดชะงักลง
เครียดลงกระเพาะอันตรายหรือไม่
โรคเครียดลงกระเพาะไม่ใช่โรคร้ายแรงที่ทำให้เสียชีวิตได้ แต่มักโรคเรื้อรังที่รบกวนต่อคุณภาพชีวิตเพราะอาการมักจะเป็น ๆ หาย ๆ หรือบางครั้งอาจมีอาการรุนแรงได้เป็นช่วงๆ แต่หากมีอาการผิดปกติที่เป็นสัญญาณเตือน เช่น น้ำหนักลดลงอย่างรวดเร็วโดยไม่ทราบสาเหตุ กลืนลำบาก กลืนเจ็บ ถ่ายดำหรืออาเจียนเป็นเลือด กินอาหารได้น้อยลง อิ่มเร็วขึ้น มีอาการคลื่นไส้ อาเจียนเรื้อรัง หรืออ่อนเพลียผิดปกติควรพบแพทย์เพื่อตรวจเพิ่มเติมว่าเสี่ยงมีอาการแทรกซ้อนหรือเป็นภาวะของโรคร้ายแรงอื่น ๆ หรือไม่ เช่น โรคมะเร็งในช่องท้อง
โรคเครียดลงกระเพาะ รักษาได้หรือไม่ ?
โรคเครียดลงกระเพาะสามารถรักษาให้หายขาดได้ โดยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิตและการกินอาหาร แต่หากปรับเปลี่ยนพฤติกรรมแล้วอาการไม่ดีขึ้น ควรเข้ารับการตรวจวินิจฉัยเพิ่มเติมจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ เพื่อหาสาเหตุและรับการรักษาอย่างถูกวิธี
โรคเครียดลงกระเพาะ ป้องกันได้หรือไม่
โรคเครียดลงกระเพาะสาเหตุหลักเกิดจากความเครียด วิธีป้องกันโรคเครียดลงกระเพาะต้องจัดการความเครียดของตัวเองให้ได้ หากิจกรรมในชีวิตประจำวันให้ร่างกายและจิตใจรู้สึกผ่อนคลาย เช่น ดูหนัง เล่นเกม ฟังเพลง ออกกำลังกาย รวมถึงการพูดคุยระบายความเครียดกับคนที่ไว้ใจ และอาจปรึกษานักจิตวิทยาหรือจิตแพทย์
อาการของ โรคเครียดลงกระเพาะ
- ปวดท้องบริเวณลิ้นปี่
- กินแล้วอิ่มเร็ว อิ่มนาน
- แสบร้อนบริเวณลิ้นปี่
- กินได้น้อยลง
- คลื่นไส้ อาเจียน รู้สึกไม่สุขสบายในช่องท้อง
- ท้องอืด อาหารไม่ย่อย
- เรอ สะอึก หรือผายลมบ่อย
- มีปัญหาเกี่ยวกับการนอน
- ปวดเมื่อยตามตัว
การป้องกันโรคเครียดลงกระเพาะ
สิ่งที่ควรหลีกเลี่ยง
1. ความเครียด และการวิตกกังวล เมื่อรู้สึกเครียดให้ทำกิจกรรมอื่น ๆ ที่เป็นการผ่อนคลายตัวเอง เช่น ฟังเพลง วาดรูป ออกกำลังกาย อ่านหนังสือ หรือนั่งสมาธิ
2.งดการรับประทานอาหารรสจัดและอาหารที่มีไขมัน น้ำตาล หรือโซเดียมในปริมาณสูง
3. งดการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ หรือชา กาแฟ น้ำอัดลมที่มีคาเฟอีนสูง
4.งดการสูบบุหรี่
สิ่งที่ควรทำ
1.รับประทานอาหารให้ตรงเวลาและครบทั้ง 3 มื้อ
2.รับประทานอาหารที่ย่อยง่าย ๆ เช่น เนื้อปลา และปริมาณอาหารในแต่ละมื้อต้องไม่มากเกินไป
3.รับประทานผัก ผลไม้ นมรสเปรี้ยว และโยเกิร์ต ในปริมาณที่เหมาะสม เพราะอาหารเหล่านี้ มีจุลินทรีย์ที่ช่วยปรับสมดุลของแบคทีเรียในร่างกาย ส่งผลให้ระบบทางเดินอาหารและระบบภูมิคุ้มกันทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ
4.เมื่อมีความเครียด ควรปรึกษาปัญหาจากบุคคลรอบข้างที่ไว้ใจได้ หรือผู้เชี่ยวชาญในด้านต่าง ๆ เช่น นักจิตวิทยา
5.ฝึกการหายใจและทำสมาธิ
6.หากน้ำหนักเกินให้ลดน้ำหนัก
จัดตารางการทำงานในแต่ละวัน
ความเครียดที่เกิดจากการทำงานเป็นสาเหตุหลัก ดังนั้นก่อนเริ่มทำงานในแต่ละวัน ควรจัดตารางในการทำงานให้ดีว่าวันนี้ต้องทำอะไรบ้างและลำดับความสำคัญว่าควรทำอะไรก่อนหลัง จะช่วยให้เรามองเห็นภาพรวม กำหนดเวลางานแต่ละชิ้นได้เหมาะสม แต่ถ้างานที่ต้องรับผิดชอบมีมากเกินไปหรือรู้สึกว่าควบคุมไม่ไหว ควรขอความช่วยเหลือหรือพูดคุยหาทางแก้ปัญหากับหัวหน้างานโดยตรง
วิธีป้องกัน โรคเครียดลงกระเพาะที่ดีที่สุด คือ การเอาตัวเองออกมาให้พ้นจากความเครียดให้ได้มากที่สุด ด้วยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการทำงานและการใช้ชีวิตประจำวัน เพื่อจะไม่เสี่ยงกับโรคนี้
ข้อมูลจาก
อ. พญ.ศุภมาส เชิญอักษร
สาขาวิชาโรคทางเดินอาหารและตับ ภาควิชาอายุรศาสตร์
คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี
มหาวิทยาลัยมหิดล