ก้อนที่ผิวหนัง

นพ. จินดา โรจนเมธินทร์
อุปนายกด้านประสานงานยา เวชภัณฑ์และเครื่องมือแพทย์
สมาคมแพทย์ผิวหนังแห่งประเทศไทย

    ก้อนที่ผิวหนัง มักจะทำให้หลาย ๆ คน รู้สึกวิตกจริต หลายครั้งที่มักจะกลัวว่าจะเป็นก้อนเนื้อร้าย ดังนั้นสมาคมแพทย์ผิวหนังแห่งประเทศไทย จึงได้นำเรื่องนี้มาอธิบายว่า “ก้อนที่ผิวหนัง” ที่พบได้ทั้งผู้หญิงและผู้ชาย ก้อนที่ว่าอาจเป็น "ถุงน้ำ" (ซีสต์) หรืออาจจะเป็น "เนื้องอก" หรือ "ก้อนไขมัน" ถ้าเป็นหลายจุดกระจายตามร่างกายเป็นไปได้ว่าอาจจะเป็นก้อนเนื้องอกมากกว่าซีสต์ เพราะถ้าเป็นซีสต์ปกติจะพบไม่มาก และมักกระจุกตัวอยู่บริเวณใดบริเวณหนึ่ง กรณี "ก้อนไขมัน" เป็นเนื้องอกชนิดหนึ่งที่ไม่เป็นมะเร็ง เกิดจากเซลล์ไขมันแบ่งตัวผิดปกติโดยไม่ทราบสาเหตุเช่นกัน ส่วน "ซีสต์" เกิดจากการที่เซลล์แบ่งตัวผิดปกติของมันเอง แทนที่จะเป็นเซลล์ผิวหนังหรือเซลล์เนื้อเยื่อกลับกลายเป็นถุงซีสต์ ซึ่งการแบ่งตัวผิดปกติไม่ได้เป็นเนื้อร้ายเป็นแค่ถุงซีสต์เท่านั้น ปกติเป็นซีสต์ก้อนจะไม่โตหรือโตช้ามากถ้าไม่ไปบีบ ขยำ บี้ คลึง แต่ถ้าเป็นเนื้องอก มะเร็ง ก้อนจะโตขึ้นเรื่อย ๆ รวมถึงก้อนไขมันจะโตขึ้นเรื่อย ๆ โดยธรรมชาติอยู่แล้ว
    ซีสต์ที่บริเวณเต้านมพบได้บ่อยเช่นกัน กรณีนี้เมื่อตรวจชัดเจนแล้วแพทย์จะไม่ผ่า แต่จะใช้เข็มเจาะดูดเอาน้ำออกมา ถามว่ามีโอกาสเป็นอีกหรือไม่ คำตอบคือมีโอกาสเป็นซ้ำได้อีกเพราะถุงซีสต์ยังอยู่ข้างใน
เมื่อใดก็ตามที่ซีสต์เกิดการอักเสบ แดง บวม ร้อน ต้องรักษาให้หายอักเสบก่อน เช่น กินยาแก้อักเสบ หลังจากนั้นจึงมาพิจารณาว่าจำเป็นต้องเอาออกหรือไม่ ถ้าซีสต์อยู่ในตำแหน่งที่ไม่เกิดปัญหาเกิดการอักเสบบ่อย ๆ อาจปล่อยทิ้งไว้ แต่ถ้าอยู่ในตำแหน่งที่มีการเสียดสี กดทับ มีการอักเสบบ่อย ๆ แนะนำว่าควรเอาออก
    สำหรับการเอาออก มีคำถามว่าจะต้องผ่าตัดหรือเจาะดูดเอาน้ำออก คำตอบคือ การเจาะแล้วดูดออกไม่แนะนำ เพราะถ้าปล่อยทิ้งไว้สักพักจะกลับมาเป็นใหม่ เนื่องจากถุงซีสต์ยังคงอยู่ ดังนั้นแนะนำว่าให้ผ่าตัดเอาออกจะดีกว่า

    ก่อนผ่าตัดแพทย์จะต้องคุยกับคนไข้ให้เข้าใจว่าสมควรจะผ่าตัดเอาออกหรือไม่ โดยการผ่าตัดต้องทำภายหลังจากอาการอักเสบหายดีแล้ว และต้องให้ข้อมูลคนไข้อย่างละเอียดประกอบการตัดสินใจ ทั้งนี้ถ้าอยู่ในตำแหน่งที่ไม่เป็นอันตราย ไม่ได้กดทับ แต่คนไข้อยากจะผ่าตัดเอาออกเพราะความรำคาญ แพทย์ก็จะผ่าให้ โดยภายหลังการผ่าตัดจะมีการนำก้อนดังกล่าวไปตรวจเพื่อให้เกิดความมั่นใจว่าไม่ได้เป็นเนื้อร้าย หากก้อนโตช้า ไม่มีอาการกดเจ็บจะทิ้งเลยก็ได้ แต่ในทางทฤษฎี เพื่อป้องกันความผิดพลาดควรนำชิ้นเนื้อส่งตรวจ ซึ่งในทางปฏิบัติการนำชิ้นเนื้อส่งตรวจมีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น ดังนั้นขึ้นอยู่กับวิจารณญาณของแพทย์แต่ละคน
หลายคนกังวลว่าจะเป็นอันตรายหรือไม่เมื่อใดควรเอาออกมีข้อสังเกตดังนี้
    1.เมื่อใดก็ตามที่มีก้อนใต้ผิวหนังต้องดูว่าก้อนดังกล่าวโตเร็วหรือไม่ เช่น หลายปีแล้วโตขึ้นมาเพียงนิดเดียวก็ไม่น่าจะเป็นเนื้อร้าย แต่ถ้าระยะเวลา 1-2 เดือนโตขึ้น 2 เท่าต้องระวัง กรณีนี้ควรไปพบแพทย์
    2.เมื่อใดก็ตามก้อนที่ร่างกายกดเจ็บ ทำให้รู้สึกไม่สบายใจ ไม่รู้ว่าในอนาคตข้างหน้าจะโตขึ้นไปกดเส้นประสาทหรือไม่ กรณีเช่นนี้แนะนำให้ผ่าตัดเอาออกจะดีกว่า