สปสช. ย้ำหลักการ “ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง” จับมือ กทม. และคลินิกทันตกรรมฟอร์จูน เชียงใหม่ ร่วมจัดบริการเชิงรุกตรวจคัดกรองสุขภาพกลุ่มเปราะบาง “เด็กและเยาวชนในสถานสงเคราะห์เด็กหญิงบ้านราชวิถี” ครอบคลุมให้บริการตามรายการสิทธิประโยชน์บริการสร้างเสริมสุขภาพฯ ในระบบบัตรทอง พร้อมให้บริการทันตกรรมด้วยรถทันตกรรมเคลื่อนที่
นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) พร้อมด้วย ดร.พญ.เลิศลักษณ์ ลีลาเรืองแสง ผู้อำนวยการสำนักการแพทย์ กรุงเทพมหานคร และ รศ.ทพ.แสวง โพธิ์ไทรย์ นายกสมาคมรถทันตกรรมเคลื่อนที่ (ประเทศไทย) ร่วมกิจกรรมการตรวจคัดกรองสุขภาพ “บริการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค” เมื่อวันที่ 1 พ.ค. 2568 ณ สถานสงเคราะห์เด็กหญิงบ้านราชวิถี เขตราชเทวี กทม. จัดโดยสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เขต 13 กรุงเทพมหานคร ร่วมกับกรุงเทพมหานคร (คาราวานตรวจสุขภาพ 1,000,000 คน ฟรี) โดยมีนางสาริกา ตรีรัตนาพิทักษ์ ผู้ปกครองสถานสงเคราะห์เด็กหญิงบ้านราชวิถี ให้การต้อนรับ
ทั้งนี้ คลินิกทันตกรรมฟอร์จูน เชียงใหม่ ได้นำรถทันตกรรมเคลื่อนที่มาร่วมให้บริการ เพื่อดูแลสุขภาพช่องปากให้กับเด็กและเยาวชนในสถานสงเคราะห์เด็กหญิงบ้านราชวิถี ตามสิทธิประโยชน์บริการด้านทันตกรรมในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง 30 บาท)
นางสาริกา กล่าวว่า สถานสงเคราะห์เด็กหญิงบ้านราชวิถีเป็นสถานที่ให้การดูแลเด็กและเยาวชนที่ประสบปัญหาสังคมและขาดผู้อุปการะ มีอายุระหว่าง 6 - 24 ปี ปัจจุบันมีเด็กและเยาวชนที่พักอาศัยอยู่ที่นี่ราว 300 คน โดยสถานสงเคราะห์ฯ ให้การดูแลด้านต่าง ๆ รวมถึงด้านสุขภาพ ซึ่งเด็กและเยาวชนที่นี่มีสิทธิประกันสุขภาพต่างกันไป แต่ส่วนใหญ่เป็นสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง 30 บาท) มีจำนวน 260 คน สิทธิสวัสดิการข้าราชการจำนวน 1 คน สิทธิประกันสังคมจำนวน 8 คน และสิทธิอื่น ๆ รวมถึงผู้มีปัญหาสถานะบุคคลและคนต่างด้าวอีก 31 คน
สำหรับกิจกรรมที่จัดขึ้นในครั้งนี้เป็นการให้บริการฯ จากทีมบุคลากรทางการแพทย์ของโรงพยาบาลกลาง เป็นส่วนช่วยให้เด็กและเยาวชนในสถานสงเคราะห์ฯ ได้เข้าถึงสิทธิบัตรทองและบริการสุขภาพที่ดีมีมาตรฐาน นำไปสู่การสร้างสุขภาพที่ดีอันเป็นพื้นฐานของการพัฒนาด้านอื่นๆ ของเด็กและเยาวชนต่อไป
ด้าน นพ.จเด็จ กล่าวว่า ปัจจุบันประชากรสิทธิบัตรทองมีประมาณ 48 ล้านคนทั่วประเทศ กว่าร้อยละ 99 สามารถเข้าถึงและใช้สิทธิบัตรทองในการรับบริการสุขภาพได้ที่หน่วยบริการในระบบ สปสช. ทั่วประเทศแล้ว อย่างไรก็ดี ยังมีประชากรกลุ่มหนึ่งที่เป็นกลุ่มเปราะบาง มีปัญหาในการเข้าถึงสิทธิและบริการอยู่ อาทิ กลุ่มผู้สูงอายุ ผู้พิการ ผู้ป่วยติดบ้านติดเตียง ผู้ต้องขัง ผู้มีปัญหาสถานะบุคคล เป็นต้น รวมถึงเด็กในสถานสงเคราะห์ ดังนั้นด้วยปรัชญาการดำเนินงานของระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ คือ “ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง” สปสช. จึงให้ความสำคัญและพยายามจัดบริการในรูปแบบต่าง ๆ เพื่อดูแลคนกลุ่มนี้ให้เข้าถึงสิทธิและบริการสุขภาพที่จำเป็นให้มากที่สุด
ส่วนกิจกรรมการตรวจคัดกรองในวันนี้เป็นการให้บริการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค โดยเป็นการทำงานเชิงรุกที่นำสิทธิประโยชน์บริการในระบบฯ มาดูแลกลุ่มเป้าหมาย ซึ่งมีบริการตรวจสุขภาพมากกว่า 20 รายการ ทั้งบริการคัดกรองภาวะซีด การให้ยาเสริมธาตุเหล็กเพื่อป้องกันโลหิตจาง บริการตรวจสุขภาพช่องปาก บริการเคลือบฟลูออไรด์และเคลือบหลุมร่องฟัน บริการตรวจวัดสายตาผิดปกติและตัดแว่นสายตา บริการตรวจคัดกรองโรคทางกายและสุขภาพจิต รวมถึงการให้วัคซีนที่จำเป็น
“บริการเหล่านี้หากจะรับบริการให้ครบ จะต้องไปรับบริการด้วยตัวเองที่หน่วยบริการหลายครั้งและเสียเวลามาก ขณะที่เด็กและเยาวชนที่นี่ การจะพาไปรับบริการก็เป็นเรื่องที่ทำได้ยาก เพราะด้วยจำนวนเด็กและเยาวชนที่มีมาก ดังนั้น การจัดบริการเชิงรุกและให้บริการแบบครบวงจร โดยความร่วมมือจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ก็ทำให้เด็ก ๆ ได้รับการดูแลสุขภาพอย่างครบถ้วนภายในการจัดบริการเชิงรุกเพียงครั้งเดียว ซึ่งต้องขอบคุณทีมบุคลากรทางการแพทย์จากโรงพยาบาลกลาง และทีมทันตแพทย์จากคลินิกทันตกรรมฟอร์จูน เชียงใหม่ ที่มาร่วมสนับสนุนให้บริการกับเด็ก ๆ ทำให้ได้รับการดูแลอย่างครอบคลุมมากที่สุด” เลขาธิการ สปสช. กล่าว