โรงพยาบาลราชวิถี ปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดเลือดให้แก่ผู้ป่วยโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาว สำเร็จเป็นรายแรกของโรงพยาบาลและกรมการแพทย์

โรงพยาบาลราชวิถี กรมการแพทย์ เผย เปิดความสำเร็จในการปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดเลือด (Hematopoietic Stem Cell Transplantation, HSCT) ให้แก่ผู้ป่วยโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวชนิด Multiple Myeloma สำเร็จเป็นรายแรก ถือเป็นรายแรกของโรงพยาบาลในกรมการแพทย์


นายแพทย์สกานต์ บุนนาค รองอธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า โรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวชนิด Multiple Myeloma เป็นมะเร็งทางโลหิตวิทยาที่เกิดจากการแบ่งตัวเพิ่มขึ้นอย่างผิดปกติของเม็ดเลือดขาวชนิดหนึ่ง ที่เรียกว่า พลาสมาเซลล์ (plasma cell) ในไขกระดูก ทำให้มีการสร้างโปรตีนที่ผิดปกติออกมาในกระแสเลือด ทำให้มีอาการได้แก่ ซีด ปวดกระดูก กระดูกพรุน กระดูกหัก ไตวาย ระดับแคลเซียมในเลือดสูง เป็นต้น การปลูกถ่ายครั้งนี้ไม่เพียงแต่ช่วยเพิ่มโอกาสรอดชีวิตให้กับผู้ป่วย แต่ยังเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงการรักษาที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น


นายแพทย์จินดา โรจนเมธินทร์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลราชวิถี กล่าวต่อว่า ผู้ป่วยชายอายุ 60 ปี เริ่มมีอาการปวดหลังส่วนกลางรุนแรงและเข้ารับการตรวจวินิจฉัยเป็นโรค Multiple Myeloma จากนั้นได้รับการรักษาด้วยยาเคมีบำบัดและประเมินผลการรักษาได้ระดับ VGPR (Very Good Partial Response) จึงเข้าสู่กระบวนการเก็บเซลล์ต้นกำเนิด (Stem Cell collection) ได้เซลล์ต้นกำเนิดจำนวน 11.21 ล้านเซลล์ต่อกิโลกรัม และเข้าสู่กระบวนการปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิดแบบ Autologous HSCT เมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2568 โดยใช้ Conditioning regimen สูตร High dose Melphalan


แพทย์หญิงเบญจมาภรณ์ เมฆรักเสรี งานโรคโลหิต กลุ่มงานอายรุศาสตร์ โรงพยาบาลราชวิถี กล่าวเพิ่มเติมว่า หลังจากกระบวนการใส่เซลล์ต้นกำเนิด การฟื้นตัวของไขกระดูกเกิดขึ้นตามแผน และเข้าสู่ระยะ Engraftment ในวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2568 (9 วันหลังใส่เซลล์ต้นกำเนิด) เป็นสัญญาณที่ดีในการฟื้นตัว โดยไม่มีภาวะแทรกซ้อนรุนแรงและร่างกายตอบสนองต่อการรักษาตามแผนที่วางไว้ ถือเป็นความสำเร็จสำคัญในการรักษาผู้ป่วย Multiple Myeloma ของโรงพยาบาลราชวิถี นายแพทย์จินดา โรจนเมธินทร์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาล ราชวิถี, นายแพทย์กนกพจน์ จันทร์ภิวัฒน์ รองผู้อำนวยการด้านพัฒนาบริการทางการแพทย์, นายแพทย์วรพจน์ ชุณหคล้าย หัวหน้าศูนย์ความเป็นเลิศด้านปลูกถ่ายอวัยวะ, และ แพทย์หญิงกรทิพย์ ผลโภค เลขาศูนย์ความเป็นเลิศด้านปลูกถ่ายอวัยวะ ได้มีบทบาทสำคัญในการผลักดันการดำเนินการปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิดครั้งนี้จนสำเร็จ โดยมีทีมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญนำโดย แพทย์หญิงประวีนวรรณ ทั่งทอง หัวหน้าหน่วยโรคโลหิต ภาควิชาอายุศาสตร์ กระบวนการปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิดวิธี Autologous HSCT เป็นการนำเซลล์ต้นกำเนิดของผู้ป่วยเองมาฟื้นฟูระบบโลหิตหลังการทำเคมีบำบัดในขนาดสูง โดยได้รับการสนับสนุนจากทีมธนาคารเลือด ภายใต้การดูแลของ นายแพทย์ชัชวาล นาคะเกศ หัวหน้าธนาคารเลือด ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการเตรียมและจัดการเซลล์ต้นกำเนิดให้พร้อมสำหรับการปลูกถ่าย ความสำเร็จของการปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิดครั้งนี้เกิดขึ้นจากความร่วมมือของทีมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญในหลายสาขา ทีมพยาบาลทีมพยาบาลที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะในการดูแลผู้ป่วยหลังการปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิด, เภสัชกร, นักโภชนาการ และสหวิชาชีพต่างๆ ที่ร่วมกันให้การดูแลและรักษาผู้ป่วยอย่างครบวงจร นอกจากนี้ยังได้รับการสนับสนุนจากมูลนิธิโรงพยาบาลราชวิถี ในด้านค่าใช้จ่ายในการก่อสร้างหอผู้ป่วยเฉพาะทาง และค่าใช้จ่ายในการปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิดสำหรับผู้ป่วยรายนี้อีกด้วย


1 พฤษภาคม 2568