“แนวทางพิจารณาสถานบริการสาธารณสุข ร่วมให้บริการบัตรทอง” เพื่อเข้าถึงสิทธิประโยชน์งานบริการสุขภาพ

20 ต.ค. 2563 14:56:44จำนวนผู้เข้าชม : 557 ครั้ง

บอร์ด สปสช. เห็นชอบ “แนวทางพิจารณาสถานบริการสาธารณสุข ร่วมให้บริการบัตรทอง” รองรับองค์กรร่วมจัดบริการสาธารณสุข เพิ่มการเข้าถึงบริการส่งเสริมสุขภาพ ป้องกันโรค และฟื้นฟูสมรรถภาพ
          นพ.ณรงค์ศักดิ์ อังคะสุวพลา กรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ทำหน้าที่ประธานกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) แทน นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งติดภารกิจร่วมประชุมสรุปสถานการณ์ไวรัสโคโรนาที่ทำเนียบรัฐบาล โดย นพ.ศักดิ์ชัย กาญจนวัฒนา เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เข้าร่วมประชุมด้วย
          ทั้งนี้ การประชุมบอร์ด สปสช. ได้เห็นชอบแนวปฏิบัติในการพิจารณากำหนดสถานบริการสาธารณสุขอื่นที่คณะกรรมการกำหนดเพิ่มเติมเพื่อเข้าร่วมให้บริการสาธารณสุข ตามมาตรา 3 แห่ง พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 ตามการนำเสนอของคณะอนุกรรมการนโยบายและยุทธศาสตร์นำเสนอ โดยมี ทพญ.ปิยะดา ประเสริฐสม ประธานคณะอนุกรรมการกำหนดมาตรฐานการให้บริการสาธารณสุขของหน่วยบริการและเครือข่ายหน่วยบริการ และ นพ.จักรกริช โง้วศิริ รองเลขาธิการ สปสช. เป็นผู้นำเสนอ
          นพ.ณรงค์ศักดิ์ กล่าวว่า ตามมาตรา 3 แห่ง พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติฯ กำหนดนิยามคำว่าสถานบริการ นอกจากสถานบริการสาธารณสุขของรัฐ เอกชน สภากาชาดไทย หน่วยบริการการประกอบโรคศิลปะสาขาต่าง ๆ แล้ว ยังกำหนดให้มี “สถานบริการสาธารณสุข” อื่นตามที่บอร์ด สปสช. กำหนดเพิ่มเติมได้ เพื่อร่วมให้บริการผู้มีสิทธิในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ โดยกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง) ให้การสนับสนุนค่าใช้จ่ายเพื่อบริการ
          สถานบริการสาธารณสุขอื่นนับว่ามีส่วนสำคัญในการร่วมสนับสนุนเพื่อให้ประชาชนผู้มีสิทธิเข้าถึงบริการสาธารณสุขที่จำเป็นอย่างทั่วถึง รวมถึงการป้องกันและแก้ไขปัญหาสาธารณสุข ภายใต้สิทธิประโยชน์หลักประกันสุขภาพแห่งชาติได้  ที่ผ่านมามีหลายองค์กรที่ร่วมดำเนินงานในฐานะสถานบริการสาธารณสุขอื่น และเมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2562 บอร์ด สปสช. เห็นชอบเพิ่มเติมให้ศูนย์บริการคนพิการทั่วไปที่กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ให้การรับรอง และศูนย์บริการคนพิการอื่นที่เข้าเกณฑ์ตามที่ สปสช. กำหนด เป็นสถานบริการสาธารณสุขอื่น พร้อมมอบให้ สปสช.  จัดทำแนวทางการพิจารณาสถานบริการสาธารณสุขอื่นให้เป็นมาตรฐานการพิจารณา จึงเป็นที่มาของการจัดทำ “แนวปฏิบัติในการพิจารณากำหนดสถานบริการสาธารณสุขอื่น ที่คณะกรรมการกำหนดเพิ่มเติมเพื่อเข้าร่วมให้บริการสาธารณสุข”  ดังนี้
          1. เป็นองค์กรหรือหน่วยงานภาคเอกชนที่มีการดำเนินงานการให้บริการสาธารณสุขตาม มาตรา 3 แห่ง พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติฯ และไม่ได้อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของพระราชบัญญัติสถานพยาบาล 2. มีผลการดำเนินงานในด้านสาธารณสุขไม่น้อยกว่า 1 ปี และได้รับการรับรองจากหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องหรือองค์กรเอกชนที่เป็นนิติบุคคลที่ สปสช. รับรอง และ 3. มีบุคลากรที่มีประสบการณ์และได้รับรองสมรรถนะจากหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องหรือองค์กรเอกชนที่เป็นนิติบุคคลที่ สปสช. รับรอง
           “แนวปฏิบัติในการพิจารณากำหนดสถานบริการสาธารณสุขอื่นที่คณะกรรมการกำหนดเพิ่มเติมเพื่อเข้าร่วมให้บริการสาธารณสุข จะทำให้เกิดความชัดเจนในหลักเกณฑ์การสมัครเข้าร่วม รวมถึงการพิจารณาของบอร์ด สปสช. เพื่อรองรับอนาคตที่คาดการณ์ว่าจะมีองค์กรต่าง ๆ เสนอขอร่วมเป็นสถานบริการอื่นในระบบบัตรทองเพิ่มเติม” นพ.ณรงค์ศักดิ์ กล่าว
          องค์กรที่ได้ร่วมเป็นสถานบริการสาธารณสุขอื่นที่คณะกรรมการกำหนดเพิ่มเติมแล้ว อาทิ เครือข่ายผู้ติดเชื้อ
เอชไอวีแห่งประเทศไทย และมูลนิธิเข้าถึงเอดส์ บริการให้คำปรึกษา คัดกรองการติดเชื้อเอชไอวี โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์กลุ่มเสี่ยง และให้ความรู้ป้องกันการเกิดโรค, มูลนิธิเพื่อเด็กพิการ และมูลนิธิออทิสติกไทย บริการฟื้นฟูความพิการซ้ำซ้อน มูลนิธิเพื่อการพัฒนาแรงงานและอาชีพ ส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรคไม่ติดต่อในกลุ่มประชากรเสี่ยงวัยทำงาน เป็นต้น