3D Printing Design and Learning Center นวัตกรรมเทคโนโลยีการพิมพ์สามมิติ เพื่อการผลิตกายอุปกรณ์เฉพาะรายบุคคล

สถาบันสิรินธรเพื่อการฟื้นฟูสมรรถภาพทางการแพทย์แห่งชาติ มุ่งเน้นการพัฒนาสู่การเป็นองค์กร แห่งความเป็นเลิศ ด้านการฟื้นฟูผู้ป่วยงานกายอุปกรณ์


นายแพทย์ธนินทร์ เวชชาภินันท์ รองอธิบดีกรมการแพทย์ เปิดเผยว่า กายอุปกรณ์มีความสำคัญเป็นอย่างยิ่งต่อการดำรงชีวิตของผู้พิการทางการเคลื่อนไหว เพราะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการรักษาฟื้นฟู ลดความเจ็บปวดจากรอยโรคเดิม ลดความเสี่ยงการเกิดภาวะแทรกซ้อน เพิ่มความสามารถทางการเคลื่อนไหว รวมไปถึงลดภาระการพึ่งพาสังคม ซึ่งจะนำไปสู่คุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นทั้งทางด้านร่างกาย จิตใจ และสังคม


งานกายอุปกรณ์สถาบันสิรินธรเพื่อการฟื้นฟูสมรรถภาพทางการแพทย์แห่งชาติกรมการแพทย์ได้เล็งเห็นถึง ความ สำคัญของการให้บริการรักษาฟื้นฟูอย่างครบวงจรด้วยกายอุปกรณ์ที่มีมาตรฐานระดับสากล โดยอ้างอิงจากสถิติการให้บริการ ด้านกายอุปกรณ์ในปีที่ผ่านมาพบว่า มีจำนวนผู้เข้ามารับบริการมากกว่า 4,000 ราย และผลิตกายอุปกรณ์มากกว่า 5,000 ชิ้น ซึ่งในปัจจุบันหน่วยงานกายอุปกรณ์มุ่งเน้นการยกระดับ การให้บริการทางการแพทย์ ด้วยการ นำนวัตกรรมเทคโนโลยีการพิมพ์สามมิติเข้ามาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิตกายอุปกรณ์ เพื่อให้ได้กายอุปกรณ์ที่มีมาตรฐาน เหมาะสมสำหรับผู้ป่วยแต่ละราย เพิ่มโอกาสในการเข้าถึงกายอุปกรณ์ที่มีคุณภาพ และยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้ป่วย ผู้พิการในประเทศไทย


แพทย์หญิงภัทรา อังสุวรรณ ผู้อำนวยการสถาบันสิรินธรเพื่อการฟื้นฟูสมรรถภาพทางการแพทย์แห่งชาติ กล่าวเพิ่มเติมว่า เทคโนโลยีสามมิติกำลังกลายเป็นเครื่องมือที่มีบทบาทสำคัญในวงการแพทย์ ซึ่งรวมไปถึงงานกายอุปกรณ์เช่นเดียวกัน กระบวนการผลิตกายอุปกรณ์ด้วยเทคโนโลยีนี้ประกอบไปด้วย การสแกนเก็บแบบอวัยวะของผู้ป่วย แต่งแบบจำลองตามหลักการทางกายอุปกรณ์ด้วยโปรแกรมคอมพิวเตอร์ และสั่งผลิตด้วยเครื่องพิมพ์สามมิติเพื่อทดแทนวิธีการผลิตแบบดั้งเดิม ซึ่งช่วยให้สามารถผลิตกายอุปกรณ์ที่มีความเหมาะสมเฉพาะรายบุคคลได้อย่างแม่นยำ ลดปัญหาความไม่สะดวกสบายที่อาจเกิดขึ้นได้จากการใช้งานกายอุปกรณ์ที่ไม่พอดีเหมาะสมกับร่างกาย ช่วยเพิ่มโอกาสให้ผู้ป่วยได้รับบริการที่มีประสิทธิภาพ และทันสมัยมากขึ้น อีกทั้งยังเป็นการเพิ่มพูนทักษะการประยุกต์ใช้เทคโนโลยี เพื่อการรักษาฟื้นฟูสำหรับบุคคลากรทางการแพทย์ และส่งเสริมการสร้างเครือข่ายทางวิชาชีพอันจะเป็นประโยชน์ต่อผู้ป่วย ผู้พิการในอนาคต


การใช้เทคโนโลยีการพิมพ์สามมิติเพื่อการผลิตกายอุปกรณ์ มีแนวโน้มที่จะเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว การมุ่งเน้น การพัฒนาในด้านเทคโนโลยีนี้ จึงถือเป็นก้าวสำคัญในการช่วยเพิ่มคุณภาพชีวิตให้กับผู้ป่วย ผู้พิการที่มีความต้องการใช้กายอุปกรณ์ที่มาตรฐาน รวมไปถึงยกระดับคุณภาพการฟื้นฟูทางการแพทย์ในอนาคต


 


16 กรกฎาคม 2568