สวรส.-มอ. เสนอผลวิจัย ‘กัญชากับผลกระทบทางสังคมและสุขภาพ’ เพื่อทบทวนมาตรการ บนเป้าหมายประโยชน์ทางการแพทย์ และความปลอดภัยของประชาชน

ภายหลังจากมีประกาศของกระทรวงสาธารณสุข เรื่องระบุชื่อยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 พ.ศ. 2565 ใน
ราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 9 ก.พ. 2565 ซึ่งมีผลบังคับใช้ 9 มิ.ย. 2565 รวมทั้งมีประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่องสมุนไพรควบคุม (กัญชา) พ.ศ. 2565 ประกาศ ณ วันที่ 16 มิ.ย. 2565 โดยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 17 มิ.ย. 2565 เป็นต้นมา ส่งผลให้สารสกัดจากทุกส่วนของพืชกัญชาหรือกัญชง ที่มีปริมาณสารเตตราไฮไดรแคนนาบินอล (tetrahydrocannabinol, THC) ไม่เกิน 0.2% โดยน้ำหนักของปริมาณสารสกัดทั้งหมด เฉพาะที่ได้รับอนุญาตให้สกัดจากพืชกัญชาหรือกัญชงที่ปลูกภายในประเทศ ไม่ถูกจัดเป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 ตามประมวลกฎหมายยาเสพติด แต่กลายเป็นสมุนไพรควบคุม ซึ่งอนุญาตให้ผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 20 ปีขึ้นไปสามารถครอบครอง ใช้ประโยชน์ ดูแล เก็บรักษา ขนย้าย จำหน่ายสมุนไพรควบคุมนี้ได้ รวมทั้งอนุญาตให้ผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม ผู้ประกอบวิชาชีพการแพทย์แผนไทย ผู้ประกอบวิชาชีพการแพทย์แผนไทยประยุกต์ ผู้ประกอบโรคศิลปะสาขาการแพทย์แผนจีน และหมอพื้นบ้านตามกฎหมายว่าด้วยวิชาชีพการแพทย์แผนไทย สามารถใช้ประโยชน์จากสมุนไพรควบคุมนี้ให้กับผู้ป่วยของตน และอนุญาตให้ผู้ป่วยของผู้ประกอบวิชาชีพเหล่านี้สามารถครอบครอง ขนย้าย ดูแล เก็บรักษา ใช้ประโยชน์ในปริมาณที่จ่ายให้สำหรับการใช้ประโยชน์เป็นเวลา 30 วัน1

ทั้งนี้หลังจากการประกาศนโยบายกัญชาดังกล่าว ยังไม่มีหลักฐานเชิงประจักษ์ถึงผลที่เกิดขึ้นในมิติต่างๆ สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) ในฐานะองค์กรวิชาการจึงเห็นความสำคัญของการวิจัยเพื่อศึกษาสถานการณ์ และสำรวจข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการใช้กัญชาในประเทศไทย สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) จึงร่วมกับคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) จัดเวทีนำเสนอผลการวิจัยในประเด็น “ผลกระทบทางสังคมและสุขภาพ จากการประเมินและกำกับติดตามนโยบายกัญชา” ซึ่งเป็นข้อมูลวิชาการส่วนหนึ่งภายใต้ชุดโครงการประเมินและกำกับติดตามผลกระทบต่อสังคมและสุขภาพจากนโยบายกัญชา โดยกิจกรรมจัดขึ้น ณ ห้องประชุมการะเกด โรงแรมแมนดาริน เมื่อวันที่ 2 พ.ค. 2567

ศ.ดร.พญ.สาวิตรี อัษณางค์กรชัย คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ หัวหน้าโครงการวิจัย
ให้ข้อมูลงานวิจัยว่า ชุดโครงการประเมินและกำกับติดตามผลกระทบต่อสังคมและสุขภาพจากนโยบายกัญชา เป็นชุดโครงการที่มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาสถานการณ์ ผลกระทบ และมาตรการที่เกิดขึ้นในประเทศไทยหลังจากมีการประกาศนโยบายกัญชาของกระทรวงสาธารณสุข ในปี 2565 รวมทั้งการเปลี่ยนแปลงของสถานการณ์แต่ละด้านในช่วง 1-2 ปีแรก ภายหลังมีการอนุญาตให้ใช้กัญชาทางการแพทย์ โดยมีกรอบแนวคิดการประเมินฯ ในประเด็นผลกระทบด้านต่างๆ เช่น ผลกระทบทางสุขภาพ, ผลกระทบด้านอาชญากรรม, ผลกระทบทางเศรษฐกิจ และผลกระทบอื่นๆ ซึ่งจากผลการประเมินและกำกับติดตามนโยบายกัญชา นับตั้งแต่ที่มีการเปลี่ยนแปลงสถานะกัญชา พบว่า สถานการณ์ด้านการจำหน่ายกัญชาในประเทศไทย ณ เดือนเมษายน พ.ศ. 2567 มีจุดจำหน่ายกัญชา 7,747 จุด โดยเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนสิงหาคม
พ.ศ. 2566 ที่มีจุดจำหน่าย 5,600 จุด และนอกจากจุดจำหน่ายกัญชาแล้ว ยังมีการจำหน่ายและการโฆษณากัญชาในช่องทางออนไลน์ โดยแพลตฟอร์มที่มีการโพสต์จำหน่ายหรือโฆษณาผลิตภัณฑ์กัญชามากที่สุด ได้แก่ Twitter เฟซบุ๊ก และไลน์ ตามลำดับ หรือแม้แต่แพลตฟอร์มจำหน่ายสินค้า เช่น Shopee และ Lazada ก็มีการจำหน่ายและโฆษณาขายผลิตภัณฑ์กัญชา ซึ่งการขยายตัวของตลาดกัญชา ส่งผลให้เกิดการเข้าถึงการซื้อและใช้กัญชามากขึ้น โดยพบว่า ประชาชนไทยอย่างน้อย 1 ใน 4 คน สามารถเข้าถึงจุดจำหน่ายกัญชาหรือผลิตภัณฑ์กัญชาอย่างน้อยหนึ่งจุดในรัศมี 400 เมตร รอบบ้าน และ 1 ใน 11 คน อยู่ในครัวเรือนที่มีการปลูกกัญชาในบ้าน ทั้งนี้ด้านการใช้พบว่า ประชาชนไทยอย่างน้อย 1 ใน 5 เคยใช้กัญชา และส่วนใหญ่ใช้เพื่อนันทนาการ โดยประชาชนวัยผู้ใหญ่เพศชาย 20-35% และเพศหญิง 10-15% ใช้กัญชาอย่างน้อยหนึ่งครั้งในช่วงเวลา 12 เดือนที่ผ่านมา คิดเป็นความชุกรวมประมาณ 20% ของการใช้กัญชาทั้งหมด ในขณะที่เยาวชนนอกสถานศึกษา 47.60% เคยลองใช้กัญชา ซึ่งมีความชุกมากที่สุดเมื่อเทียบกับนักเรียนมัธยมและนักศึกษาระดับปริญญาตรี โดยเยาวชนมักใช้กัญชาร่วมกับสารเสพติดอื่น เช่น สุรา ยาสูบ กระท่อม และสาเหตุอันดับต้นของการเริ่มใช้กัญชาในเยาวชนยังคงเป็นความอยากรู้อยากลอง

ศ.ดร.พญ.สาวิตรี กล่าวต่อว่า จากข้อมูลวิจัยในด้านมุมมองของสังคมต่อกัญชา “การสำรวจความคิดเห็นสาธารณะในสื่อสังคมออนไลน์ และข่าวอาชญากรรมที่เกี่ยวข้องกับกัญชาในหนังสือพิมพ์ ก่อนและหลังการออกนโยบายกัญชา” ซึ่งเป็นโครงการย่อยภายใต้ชุดโครงการวิจัยดังกล่าว พบว่า มีความเปลี่ยนแปลงไป โดยช่วงปี 2561-2562  มีมุมมองไปในทิศทาง กัญชาเป็นยาวิเศษและเป็นพืชเศรษฐกิจ ต่อมาช่วงปี 2564-2566 ประชาชนไทยเกือบครึ่งหนึ่ง  มองว่า กัญชาเป็นสารเสพติดที่น่ารังเกียจน้อยกว่ายาเสพติดผิดกฎหมายชนิดอื่น โดยนักศึกษามหาวิทยาลัยส่วนใหญ่  ทราบว่ากัญชาเสพติดได้ แต่มีเพียงส่วนน้อยที่ทราบว่ากัญชามีผลต่อสมอง หัวใจ และสุขภาพจิต นอกจากนี้ยังพบผลกระทบของการใช้กัญชา โดยเฉพาะคดีอาชญากรรมเพิ่มสูงขึ้นหลังปลดล็อกกัญชา รวมทั้งการใช้กัญชาไม่เพียงแต่  มีผลกระทบต่อสุขภาพของผู้ใช้เอง แต่ยังรบกวนชีวิตของคนอื่นในครอบครัว เพื่อนบ้าน และเจ้าพนักงานฝ่ายต่างๆ

ด้าน นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข กล่าวว่า ที่ผ่านมาแม้ว่าจะเห็นประโยชน์ของกัญชาในทางการแพทย์ ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของการปลดล็อกเรื่องการใช้กัญชา หากแต่หลังจากการปลดล็อกในเชิงนโยบายแล้ว จำเป็นต้องมีองค์ความรู้มาประกบคู่ขนานกับการดำเนินงานตามนโยบาย เพื่อเฝ้าระวังผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น และข้อมูลจากงานวิจัยภายใต้ชุดโครงการดังกล่าว มีความสำคัญต่อการกำกับ ติดตามสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ทั้งนี้เพื่อใช้ในการพิจารณาการกำหนดกฎหมายหรือการดำเนินมาตรการต่างๆ โดยคำนึงถึงประโยชน์ทางการแพทย์ควบคู่กับความปลอดภัยจากการใช้กัญชาเป็นสำคัญ


...........................


ข้อมูลจาก


1ชุดโครงการประเมินและกำกับติดตามผลกระทบต่อสังคมและสุขภาพจากนโยบายกัญชา, สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข