รัฐร่วมเอกชน MOU : หนุนความรู้ มุ่งสู่เป้าหมาย WHO “ปี 2573 : ไวรัสตับอักเสบหมดไปจากประเทศไทย”

4 ภาคีรัฐ-เอกชน ร่วมลงนามความร่วมมือ “พัฒนาการดำเนินงานควบคุมป้องกันโรคไวรัสตับอักเสบ” พร้อมประเมินสถานการณ์โรคและผลการให้วัคซีน สู่การพัฒนานโยบายส่งเสริมประสิทธิภาพงานควบคุมป้องกันโรคไวรัสตับอักเสบ และการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคในประเทศไทย ตามเป้าหมายองค์การอนามัยโลก มุ่งขจัดไวรัสตับอักเสบสู่การลดผู้ติดเชื้อรายใหม่ลงร้อยละ 90 และเสียชีวิตลดลงร้อยละ 65 ในช่วงปี พ.ศ. 2569-2573

สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และบริษัท เอ็มเค เรสโตรองต์ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการ (MOU) เพื่อสนับสนุนและพัฒนาการดำเนินงานควบคุมป้องกันโรคไวรัสตับอักเสบ และสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคในประเทศไทย ณ ห้องประชุม 302 อาคารรัตนวิทยาพัฒน์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย


ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทาง ด้านไวรัสวิทยาคลินิก คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้ข้อมูลสถานการณ์ไวรัสตับอักเสบในประเทศไทย และการดำเนินการที่ผ่านมาว่า ไวรัสตับอักเสบที่เป็นปัญหาในประเทศไทย คือ ไวรัสตับอักเสบ บี และ ซี ซึ่งในส่วนของไวรัสตับอักเสบ บี ได้มีการให้วัคซีนในทารกแรกเกิดมาตั้งแต่ปี 2535 ส่งผลให้การป้องกันมีประสิทธิภาพสูงมาก ปัญหาของไวรัสตับอักเสบ บี ส่วนใหญ่จึงเป็นของกลุ่มผู้ที่มีอายุมากกว่า 30 ปี หรือผู้ที่เกิดก่อนการให้วัคซีนไวรัสตับอักเสบ บี ในแผนงานสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคของกระทรวงสาธารณสุข นโยบายลดการถ่ายทอดไวรัสตับอักเสบ บี จากมารดาสู่ทารกให้เป็นศูนย์ จึงนับว่าประสบความสำเร็จ โดยสิ่งที่จะมาอธิบายความสำเร็จดังกล่าวได้อย่างชัดเจน คือข้อมูลที่บ่งชี้การติดเชื้อไวรัสตับอักเสบ บี ในเด็กต่ำกว่า 5 ปี ที่จะต้องน้อยกว่า 0.1%


“ทั้งนี้ประชากรไทยทุกคนควรจะได้รับการตรวจคัดกรองไวรัสตับอักเสบ บี และ ซี และถ้ามีการติดเชื้อ จะต้องเข้าสู่กระบวนการรักษา ทั้งนี้ไวรัสตับอักเสบ ซี สามารถรักษาให้หายขาดได้ ไวรัสตับอักเสบบี สามารถรักษาเพื่อไม่ให้เกิดการดำเนินของโรคตับแข็งและมะเร็งตับ รวมทั้งสามารถช่วยลดอัตราการเสียชีวิตจากโรคตับที่เกิดจากไวรัสตับอักเสบได้อย่างน้อย  ร้อยละ 65 ภายในปี 2573 ในการนี้ข้อมูลเชิงประจักษ์จากการศึกษาวิจัยข้อมูลพื้นฐานโดยเฉพาะการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบในประชากรไทย เพื่อวางแผนและดำเนินการให้ได้ตามเป้าหมายในปี 2573 จึงมีความจำเป็นที่จะต้องดำเนินการอย่างยิ่ง”  ศ.นพ.ยง ระบุ

นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข ให้ความเห็นว่า ตามเป้าหมายขององค์การอนามัยโลกที่กำหนดให้มีแผนการขจัดไวรัสตับอักเสบให้เหลือน้อยที่สุดภายในปี 2573 ทั้งนี้ประเทศไทยมีการดำเนินงานด้านการควบคุมป้องกันโรคไวรัสตับอักเสบ และการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค โดยการให้วัคซีนกับทารกแรกเกิดมาตั้งแต่
ปี 2535 ส่งผลให้อัตราความชุกและแนวโน้มการเกิดโรคเปลี่ยนแปลงไป สวรส. ในฐานะองค์กรด้านการวิจัยระบบสุขภาพที่มุ่งเน้นการนำงานวิจัยไปใช้ประโยชน์ในการขับเคลื่อนและพัฒนานโยบายด้านสุขภาพของประเทศ เล็งเห็นว่าการทบทวนและพัฒนาแผนการดำเนินงานในระยะต่อไป โดยการศึกษาวิจัยมีความสำคัญ ซึ่งข้อมูลทางวิชาการจะเข้ามาช่วยอธิบายถึงสถานการณ์ของโรค ตลอดจนผลการดำเนินงานที่ผ่านมาได้อย่างชัดเจน ซึ่งจะนำไปสู่การพัฒนานโยบายและการดำเนินงานเรื่องนี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ สอดคล้องกับสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงของโรค ตลอดจนเกิดความคุ้มค่าในการลงทุนด้านงบประมาณกับการดำเนินงานเรื่องดังกล่าวต่อไป โดยความร่วมมือของภาครัฐและเอกชนในครั้งนี้ จะเป็นอีกหนึ่งความร่วมมือของ สวรส. ที่จะมุ่งเน้นการสนับสนุนให้เกิดงานวิชาการ ควบคู่กับการพัฒนาศักยภาพนักวิจัย เพื่อขับเคลื่อนให้เกิดการพัฒนานโยบาย และยกระดับการดำเนินงานเรื่องนี้ให้เกิดประสิทธิภาพ รวมถึงสนับสนุนเป้าหมายประเทศให้ปลอดโรคไวรัสตับอักเสบไปพร้อมกัน

รศ.ดร.นพ.จิรุตม์ ศรีรัตนบัลล์ รองคณบดีฝ่ายวางแผนและพัฒนา คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่าโรคไวรัสตับอักเสบ นับเป็นโรคที่เป็นปัญหาสาธารณสุขของคนไทย ที่ผ่านมาศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นำโดย ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ มีบทบาทสำคัญในการพัฒนาการดำเนินงานดูแล รักษา และป้องกันโรคไวรัสตับอักเสบในประเทศไทย ซึ่งการร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการในครั้งนี้ จะสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคในประเทศไทย และสร้างเสริมสุขภาพที่ดีให้กับประชาชนทุกคนต่อไป


        พญ.วรรณา หาญเชาว์วรกุล ผู้ช่วยอธิบดีกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุข โดยกรมควบคุมโรคได้จัดให้มีการฉีดวัคซีนไวรัสตับอักเสบบี แก่ทารกแรกเกิดตั้งแต่พ.ศ. 2535 เพื่อสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคแก่เด็กไทยทุกคน และได้ผลักดันนโยบายการตรวจคัดกรองโรคตับอักเสบ บี และ ซี ในกลุ่มเสี่ยง เพื่อให้การรักษา โดยสามารถบรรจุยารักษาไวรัสตับอักเสบ บี เข้าในบัญชียาหลักแห่งชาติ ในปี 2565 ภายใต้ MOU ในครั้งนี้กรมควบคุมโรค จะให้การส่งเสริม สนับสนุนการสร้าง ผลงานทางวิชาการ และองค์ความรู้ ของหน่วยงานและภาคีเครือข่าย และพัฒนาองค์ความรู้ที่ได้ไปสู่การรับรู้ในเรื่องสุขภาพของประชาชน รวมถึงการพัฒนานโยบายเพื่อให้ระบบการป้องกันควบคุมโรคของประเทศไทยเทียบเท่ามาตรฐานสากล

คุณฤทธิ์ ธีระโกเมน ประธานกรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เอ็มเค เรสโตรองต์ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า บริษัท เอ็มเค เรสโตรองต์ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) มีนโยบายที่จะส่งเสริมและผลิตอาหารที่จะทำให้คนมีสุขภาพและพลานามัยที่แข็งแรง จึงเห็นว่าความร่วมมือทางวิชาการในครั้งนี้ สอดคล้องกับการทำให้คนไทยมีสุขภาพดี และปลอดภัยจากโรคที่มาจากไวรัสตับอักเสบ


ผศ.ดร.จรวยพร ศรีศศลักษณ์ รองผู้อำนวยการสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข กล่าวว่า การลงนามบันทึกข้อตกลงในครั้งนี้ สวรส. มุ่งเน้นบทบาทในการสนับสนุนงานวิจัยเพื่อใช้ประโยชน์ในการกำหนดนโยบายเพื่อการวางแผนในงานสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค โดยเฉพาะการฉีดวัคซีนเพื่อป้องกันโรคไวรัสตับอักเสบ โดยภายใต้การดำเนินงาน MOU ดังกล่าว สวรส. ได้สนับสนุนทุนวิจัยให้แก่คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในการศึกษาวิจัยด้านการประเมินผลกระทบการให้วัคซีนป้องกันโรคตับอักเสบ บี ในงานสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคแห่งชาติ ในพื้นที่ 4 จังหวัด กระจายอยู่ในภูมิภาคต่างๆ ทั่วประเทศ เพื่อศึกษาอัตราการติดเชื้อ การเป็นพาหะ และระดับภูมิคุ้มกันต่อโรคตับอักเสบ บี ในประชากรไทยกลุ่มวัยต่างๆ ที่จะสามารถชี้ให้เห็นถึงแนวโน้มของโรคฯ หลังจากได้รับวัคซีนป้องกันโรคตับอักเสบ บี รวมทั้งมีการประเมินการเปลี่ยนแปลงภูมิคุ้มกันต่อโรคตับอักเสบ บี ในเด็กกลุ่มที่เคยได้รับและไม่ได้รับวัคซีน ตลอดจนความชุกการติดเชื้อและภูมิคุ้มกันต่อโรคตับอักเสบ เอ บี และซี ในประชากรไทยกลุ่มอายุต่างๆ เพื่อให้มีข้อมูลเชิงประจักษ์ในการกำหนดการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคและกลุ่มเป้าหมายให้เหมาะสม เพื่อให้ประชากรไทยทุกกลุ่มอายุมีภาวะภูมิคุ้มกันต่อโรคที่ป้องกันได้ด้วยวัคซีนในสัดส่วนสูงเพื่อป้องกันการระบาดของโรค รวมถึงเป็นข้อมูลที่ยืนยันกับทีมประเมินขององค์การอนามัยโลกว่าประเทศไทยมีความพร้อมและมีระบบเฝ้าระวังสถานการณ์โรคดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง