“อาจารย์นักวิจัย” รุ่นใหม่ มหาวิทยาลัยมหิดล ผู้มุ่งมั่นงานด้านวิจัยควบคู่ด้านการสอน เพื่อผลักดันงานด้านวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีของเมืองไทยสู่เวทีโลก

www.medi.co.th

รองศาสตราจารย์ ดร.พงศกร กาญจนบุษย์ อาจารย์ประจำสาขาวิชาวัสดุศาสตร์และนวัตกรรมวัสดุ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล อาจารย์นักวิจัยรุ่นใหม่ ของมหาวิทยาลัยมหิดล เริ่มต้นเส้นทางสายวัสดุศาสตร์ จากการได้รับคัดเลือกให้เป็นนักเรียนฟิสิกส์โอลิมปิกระดับเอเชีย ในปี พ.ศ. 2546 จบการศึกษาระดับปริญญาตรี เกียรตินิยมอันดับหนึ่ง สาขาวิชาฟิสิกส์และเศรษฐศาสตร์ จาก Washington University in St. Louis ระดับปริญญาโท - เอกสาขาฟิสิกส์ จาก The University of Chicago หลังจากสำเร็จการศึกษา ได้ทำงานเป็นนักวิจัยหลังปริญญาเอกที่ University of Toronto และกลับมาดำรงตำแหน่งอาจารย์ประจำคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เมื่อ พ.ศ. 2558

ด้านการวิจัย ทำงานวิจัยกับทั้งภาครัฐและเอกชน มีผลงานตีพิมพ์ระดับนานาชาติรวมกว่า 80 เรื่อง โดยงานวิจัยมีการอ้างอิงกว่า 7,500 ครั้ง และยื่นจดสิทธิบัตรและอนุสิทธิบัตรกว่า 15 ฉบับ รองศาสตราจารย์ ดร.พงศกร ได้รับรางวัลนักวิจัยวัสดุรุ่นใหม่ดีเด่นประจำปี 2565 จากสมาคมวิจัยวัสดุ ประเทศไทย และรางวัล Mahidol University Top 1% researcher ประจำปี 2566 จากการพัฒนาวัสดุ “เพอรอฟสไกต์” ซึ่ง "เพอรอฟสไกต์" นั้นเป็นวัสดุกึ่งตัวนำไวต่อแสงที่เหมาะสำหรับการประยุกต์ใช้สำหรับโซล่าเซลล์ เอลอีดี และเซนเซอร์รับแสง โดยประสิทธิภาพจะเปลี่ยนแปลงน้อยตามอุณหภูมิที่สูงขึ้นเมื่อเทียบกับซิลิคอน ทำให้เหมาะกับการใช้ในเมืองไทย หากนำมาใช้เคลือบบนกระจก หน้าต่าง จะสามารถผลิตไฟฟ้าพร้อมลดความร้อนที่เข้ามาในอาคาร สามารถให้พลังงานอุปกรณ์ IOTs ที่เป็นส่วนประกอบสำคัญสำหรับสิ่งก่อสร้างสมัยใหม่ สามารถนำมาทำเป็นจอโทรทัศน์ จอมือถือ อีกทั้งนำไปผลิตวัสดุตรวจรับแสงสำหรับการตรวจจับหรือพัฒนาต่อยอดเป็น “จอประสาทตาเทียมปลอดสารพิษ” ซึ่งเป็นการพัฒนาวัสดุตรวจรับแสงที่เป็นพิษต่ำเพื่อปูทางสู่การพัฒนาต่อเนื่องในอนาคต อีกผลงานวิจัยที่โด่ดเด่นของ รองศาสตราจารย์ ดร.พงศกร และทีมวิจัย คือ “กระบวนการผลิตโซล่าเซลล์ชนิดเพอรอฟสไกต์แบบหลายชั้นทีละชั้นที่ควบคุมได้เป็นครั้งแรกของโลก ที่มีประสิทธิภาพและความทนทานความชื้นสูง” เดิมทีการขึ้นรูปโซล่าเซลล์ชนิดเพอรอฟสไกต์ ไม่สามารถขึ้นรูปชั้นเพอรอฟสไกต์หลายชั้นได้ต่อกันได้ เนื่องจากกระบวนการสร้างชั้นใหม่จะทำให้ชั้นเดิมละลาย จึงทำได้เพียงเคลือบผิวบาง ๆ ทีมนักวิจัยจึงคิดค้นกระบวนการสร้างโซล่าเซลล์ชนิดเพอรอฟสไกต์แบบหลายชั้นต่อกัน ควบคุมความหนาได้ในระดับนาโนมิเตอร์เป็นครั้งแรกของโลก ด้วยกระบวนการขึ้นรูปแบบสเปรย์ที่ควบคุมจำนวนและขนาดของอนุภาคของเหลวจากหัวสเปรย์และการใช้ความร้อนอย่างเหมาะสม ทำให้อนุภาคของเหลวก่อตัวเป็นผลึกสารกึ่งตัวนำทันทีเมื่อสัมผัสกับแผ่นรองรับหรือชั้นเพอรอฟสไกต์ ทีมวิจัยทดสอบการทำงานของโซล่าเซลล์แบบใหม่โดยเลือกใช้งานเพอรอฟสไกต์ที่มีคุณสมบัติแตกต่างกันร่วมกันได้ตามความต้องการ นำไปสู่เสถียรภาพและประสิทธิภาพที่สูงขึ้น และเปิดทางสู่การพัฒนาอุปกรณ์อื่น ๆ ในอนาคต โดยผลงานวิจัยนี้ได้รับรางวัลผลงานวิจัยแห่งชาติ ระดับดีมาก ประจำปี 2565 จากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) นอกจากงานวิจัยด้านวัสดุเพอรอฟสไกต์หลายรูปแบบ อาจารย์พงศกรและทีมวิจัยยังพัฒนาวัสดุลดความร้อนด้วยการแผ่รังสี เพื่อประหยัดการใช้พลังงานในอาคารและการเกษตรของไทย

ด้านการสอน รองศาสตราจารย์ ดร.พงศกร กาญจนบุษย์ ได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งอาจารย์ เมื่อปี พ.ศ. 2558 ด้วยนิสัยที่ไม่ชอบท่องจำ จึงมีแนวการสอนที่ใช้ “ความเข้าใจ” เป็นหลัก เน้นการเชื่อมโยง เหมือนกับต้นไม้ที่มีรากและกิ่งก้านเชื่อมโยงและขยายออกไป โดยจะสอนนักศึกษาเสมอว่า “ให้คิดเป็นระบบ คิดเชื่อมโยง และเข้าใจอย่างลึกซึ้ง” ถ้าใช้ความจำสักพักคุณก็จะลืม แต่ถ้าหากคุณเข้าใจคุณจะรู้ว่ามันเชื่อมโยงกันแบบไหน และมีโอกาสต่อยอดเพิ่มพูนความรู้เหล่านั้น ต่อให้คุณลืมมันไปแล้วคุณก็สามารถดึงมันกลับขึ้นมาได้ง่าย มักจะสอนนักศึกษาในห้องปฏิบัติการเสมอว่า “นักวิจัยที่ดี ต้องมาพร้อมการรับผิดชอบต่อสังคม” นักศึกษาทุกคนต้องแยกขยะ อย่างถูกต้อง อะไรนำกับมาใช้ใหม่ได้ ก็ใช้ซ้ำ และส่งขยะสารเคมีให้บริษัทเพื่อกำจัดอย่างถูกต้องไม่เป็นภัยต่อสิ่งแวดล้อม พร้อมเน้นการทำงานกับนักวิจัยและอาจารย์จากหลากหลายสถาบัน ทำให้นักศึกษาได้ “authentic education” ที่ตอบโจทย์ปัญหาในปัจจุบันและนำไปใช้ได้จริง สิ่งสำคัญอีกอย่างหนึ่งคือการสอนให้นักศึกษา “ทำงานเป็นทีม” ซึ่งการทำงานร่วมกับผู้อื่น ทำให้เราได้เห็นวิธีการทำงาน และมุมมองการทำงานของคนอื่น สามารถดึงความสามารถของทุกคนออกมาร่วมพัฒนางาน นำพลังที่ได้มาจากบูรณาการร่วมกันสร้างองค์ความรู้และผลงานที่เป็นประโยชน์ โดยจะมีการประชุมกับนักศึกษาทุกอาทิตย์ โดยให้นักศึกษาสลับกันนำเสนอผลงานวิจัย และพูดคุย หาวิธีแก้ปัญหาพัฒนางานวิจัยให้ดี และตอบโจทย์ผู้ใช้มากขึ้น ที่สำคัญจะอาจารย์จะมีการประเมินตนเอง และปรับปรุงตามคำแนะนำของนักศึกษาและหน่วยงานต่าง ๆ ที่ร่วมงานด้วย พร้อมเรียนรู้ต่อยอดสิ่งใหม่ตลอดเวลา คิดเสมอว่านักศึกษาและหน่วยงานต่าง ๆ เรียนรู้จากเรา เราก็ต้องเรียนรู้จากนักศึกษาและหน่วยงานต่าง ๆ เช่นกัน 

จากผลงานที่ผ่านมาทำให้ รองศาสตราจารย์ ดร.พงศกร กาญจนบุษย์ ได้รับรางวัลอาจารย์ตัวอย่าง จากสภาคณาจารย์ มหาวิทยาลัยมหิดล สาขาวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี ประจำปี 2566 โดยเชื่อว่าในการพัฒนาคนและผลงานที่มีคุณภาพ เปรียบเหมือนเป็นตัวเร่งปฏิกิริยาที่ทำให้นักศึกษาและผู้ร่วมงานเก่งและดีขึ้นในรูปแบบของเขาเอง ขอบคุณการสนับสนุนจากหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งรัฐและเอกชน ทำให้เรามีห้องปฏิบัติการวัสดุพลังงาน Kanjanaboos Lab ที่มีคุณภาพระดับสากลในประเทศไทย ทำให้พวกเราสามารถสร้างผลงานให้เป็นที่ประจักษ์ทั้งในประเทศ และต่างประเทศ และเป็นส่วนหนึ่งของการผลักดันงานด้านวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีของเมืองไทย “งานวิจัยคุณภาพสามารถช่วยแก้ปัญหา ช่วยพัฒนาคนเก่ง และช่วยสร้างรายได้ให้ประเทศไทย คนไทยถ้าได้รับการสนับสนุนอย่างตรงจุด มีความสามารถไม่แพ้ใครในโลกเช่นกัน”