นักวิจัยถกยานอนหลับลดอาการอัลไซเมอร์ได้จริงหรือ

นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยวอชิงตันอ้างว่า การใช้ยา suvorexant ที่ใช้รักษาอาการนอนไม่หลับ อาจช่วยลดการสะสมของโปรตีนเทาและอะไมลอยด์-เบต้า ที่เป็นพิษต่อเซลล์สมองและเป็นสาเหตุของโรคอัลไซเมอร์ แต่ยังเร็วเกินไปที่จะนำยาตัวนี้มาใช้ในการรักษา


อาสาสมัครอายุ 45 ถึง 65 ปี จำนวน 38 คน ที่ไม่มีสัญญาณของความบกพร่องทางสติปัญญาและไม่มีปัญหาในการนอนหลับ เข้าร่วมการทดลองของทีมวิจัยจากมหาวิทยาลัยวอชิงตัน ในเมืองเซนต์หลุยส์ เพื่อศึกษาถึงความเชื่อมโยงของยา suvorexant กับระดับการสะสมของโปรตีนเทาและอะไมลอยด์-เบต้าในเซลล์สมอง อันบ่งชี้ถึงอาการที่รุนแรงขึ้นของโรคอัลไซเมอร์ นักวิจัยได้ตรวจวัดระดับของสารทั้ง 2 ชนิด ทุก 2 ชั่วโมง เป็นระยะเวลา 36 ชั่วโมง พวกเขาพบว่ากลุ่มที่ได้รับยา suvorexant จริงๆ นั้นมีระดับสะสมของอะไมลอยด์-เบต้าลดลง 10 ถึง 20% และยังพบว่าหากเพิ่มปริมาณยา suvorexant จะลดการสะสมของโปรตีนเทาที่เป็นพิษต่อเนื้อเยื่อสมองด้วย


นักวิจัยมองว่า การส่งเสริมการนอนหลับอาจเป็นแนวทางหนึ่งในการป้องกันโรคอัลไซเมอร์ แต่ถึงแม้ว่ายาแก้ภาวะนอนไม่หลับอย่าง suvorexant อาจช่วยในเรื่องนี้ได้ แต่ก็ยังเร็วเกินไปที่จะสรุปว่า suvorexant มีผลดีต่อผู้ป่วยอัลไซเมอร์ หรือเป็นเหตุผลที่ควรรับประทานยา suvorexant ทุกคืน เพราะการใช้ยานอนหลับติดต่อกันนานๆ ส่งผลเสียมากกว่า ไม่ว่าจะเป็นอารมณ์แปรปรวน อ่อนเพลีย ไม่รู้สึกสดชื่น การทำงานของสมองลดประสิทธิภาพลง ซึ่งต้องมีการศึกษาวิจัยเพิ่มเติมเกี่ยวกับการนอนหลับที่มีผลต่อโรคอัลไซเมอร์ต่อไป