แถลงการณ์ของสมาคมหัวใจอเมริกันระบุว่า สุขภาพจิตเป็นองค์ประกอบที่มีความสำคัญต่อสุขภาพของหัวใจ รวมทั้งการป้องกัน การรักษาโรคหัวใจและหลอดเลือด และสุขภาวะที่ดีโดยรวม
ในปี 2019 ข้อมูลของ National Institute of Mental Health สหรัฐอเมริกา แสดงว่า ผู้ใหญ่เกือบ 51.5 ล้านคน ในสหรัฐอเมริกามีอาการทางสุขภาพจิต
เมื่อโควิด-19 แพร่ระบาด Centers for Disease Control and Prevention (CDC) ได้ประเมินว่า ในปลายเดือน มิ.ย.2020 ผู้ใหญ่ร้อยละ 40 มีอาการทางสุขภาพจิตหรือเป็นโรคจิตเวชที่เกิดจากการใช้สารเสพติด
ถึงแม้แพทย์จะทำงานได้ดีมากในการให้ความสำคัญกับอาการป่วยทางกาย แต่บางครั้งแพทย์อาจมองข้ามสุขภาพจิตได้โดยไม่ได้ตั้งใจ
อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบวิชาชีพด้านสุขภาพกำลังยอมรับมากขึ้นถึงความเชื่อมโยงระหว่างสุขภาพจิตและสุขภาวะทางกายภาพ ซึ่งจะนำไปสู่กลยุทธ์การรักษาและป้องกันโรคที่มีประสิทธิผลมากขึ้นด้วยการเน้นตัวผู้ป่วยแบบองค์รวม
เพื่อจัดการกับเรื่องนี้ AHA ได้ประสานงานกับ Council on Clinical Cardiology, Council on Arteriosclerosis, Thrombosis and Vascular Biology, Council on Cardiovascular and Stroke Nursing, และ Council on Lifestyle and Metabolic Health เผยแพร่แถลงการณ์ในวารสาร Circulation
คำแถลงนี้เป็นการประเมินและสรุปการศึกษา 128 ชิ้น เกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างสุขภาวะทางจิตวิทยาและสุขภาพของหัวใจและหลอดเลือด
ผลกระทบของสุขภาพทางจิตที่ไม่พึงประสงค์ต่อร่างกาย
คณะผู้เขียนแถลงการณ์เริ่มการตรวจสอบด้วยการดูที่สุขภาพทางจิตในเชิงลบและความเชื่อมโยงกับโรคหัวใจและหลอดเลือด ซึ่งรวมไปถึงการศึกษางานวิจัยเกี่ยวกับความเครียดจากการบาดเจ็บและความเครียดเรื้อรัง ความโกรธและความเป็นศัตรู ความวิตกกังวล โรคซึมเศร้า และการมองโลกในแง่ร้าย
การวิเคราะห์ข้อมูลโดยรวมแสดงว่า มีการเพิ่มขึ้นทั้งอัตราการเต้นที่ไม่สม่ำเสมอของหัวใจ ความดันโลหิต ตัวบ่งชี้การอักเสบ และการไหลเวียนเลือดไปสู่หัวใจที่ลดลงซึ่งสัมพันธ์กับคุณลักษณะข้างต้นหรือสภาวะสุขภาพจิต
ผู้ที่มีสภาวะสุขภาพทางจิตหรือคุณลักษณะที่เกี่ยวข้องยังมีโอกาสมากขึ้นที่จะเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด โรคเบาหวาน ชนิดที่ 2 ความดันโลหิตสูง ระดับคอเลสเตอรอลสูง และปัญหาที่เกี่ยวกับน้ำหนักตัว
นอกจากนั้น ผู้เขียนยังพบว่า ผู้ป่วยเหล่านี้มีโอกาสมากขึ้นที่จะเกี่ยวข้องกับพฤติกรรมที่มีผลกระทบต่อสุขภาพ เช่น การสูบบุหรี่ การไม่ออกกำลังกาย การรับประทานอาหารที่ไม่มีประโยชน์ต่อสุขภาพ และการไม่ใช้ยาที่แพทย์สั่ง
สุขภาพจิตที่เป็นบวกเสริมสุขภาวะทางกายที่ดี
คณะทำงานของ AHA ยังได้ทบทวนการศึกษาหลายชิ้นที่ค้นหาว่าปัจจัยทางจิตวิทยาที่เป็นบวกมีผลอย่างไรต่อสุขภาพของหัวใจและหลอดเลือด
ผู้เข้าร่วมการศึกษาที่บอกว่า มีการมองโลกในแง่ดีมากขึ้น มีความตระหนักในเป้าหมาย มีความสุข มีสติ ความพึงพอใจในชีวิต พลังทางอารมณ์ ความเป็นอยู่ที่ดีกับความรู้สึกขอบคุณ และการกลับคืนสู่สภาพเดิม มีความเป็นไปได้น้อยกว่าที่จะเป็นโรคหลอดเลือดสมองกับโรคหัวใจและหลอดเลือด และมีความเสี่ยงน้อยลงต่อการเสียชีวิต
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผู้ที่บอกว่ามีสภาวะของสุขภาพจิตที่เป็นบวกมีโอกาสมากขึ้นที่จะมีความดันโลหิตต่ำ ควบคุมกลูโคสได้ดีขึ้น มีการอักเสบน้อยลง และคอเลสเตอรอลต่ำลง
โดยทั่วไป ผู้เข้าร่วมการศึกษาที่มีสุขภาพจิตดีมีความเป็นไปได้มากขึ้นที่จะดำเนินพฤติกรรมที่เป็นประโยชน์ เช่น มีการออกกำลังกายมากขึ้น มีอุปนิสัยการรับประทานที่ส่งเสริมสุขภาพของหัวใจ ทำตามกำหนดเวลาการใช้ยาอย่างเคร่งครัด และไปพบแพทย์สม่ำเสมอ และไม่สูบบุหรี่
การเชื่อมโยงระหว่างจิตใจและร่างกาย
นักวิเคราะห์ข้อมูลยังได้ตรวจสอบว่า การรักษาอาการทางจิตวิทยามีผลกระทบอย่างไรต่อผลของหัวใจและหลอดเลือด และสุขภาวะโดยทั่วไป
คณะทำงานศึกษาทบทวนได้พิจารณางานวิจัยเกี่ยวกับวิธีการรักษาที่ใช้ลดความเครียด ส่งเสริมทักษะการต่อสู้ หรือปลูกฝังสภาวะทางจิตวิทยาเชิงบวก
คณะทำงานพบว่า ในการศึกษาหลายชิ้นที่ได้ทบทวน การดำเนินการในการบำบัดทางจิตวิทยาและโปรแกรมว่าด้วยจิตใจและร่างกาย ได้นำไปสู่สุขภาพของหัวใจและหลอดเลือด และสุขภาวะโดยรวมที่ดีขึ้น
โปรแกรมสุขภาพจิตวิทยาที่มีประสิทธิผล ประกอบด้วย การบำบัดด้วยความคิดและพฤติกรรม (cognitive behavioral therapy) จิตบำบัด แนวทางการจัดการดูแลสุขภาพแบบประสานความร่วมมือ การบำบัดเพื่อลดความเครียดและการฝึกสมาธิ
Dr. Glenn N. Levine ประธานคณะกรรมการประเมินหลักสูตรและศาสตราจารย์สาขาการแพทย์ที่ Baylor College of Medicine ในฮิวสตัน รัฐเทกซัส สรุปการค้นพบของคณะทำงานว่า “สุขภาวะที่ดีเป็นมากกว่าแค่การไม่มีโรค สุขภาวะที่ดีเป็นกระบวนการที่ไม่หยุดนิ่งเพื่อมุ่งไปสู่สุขภาพดีขึ้น มีความสุขมากขึ้น และชีวิตที่เติมเต็มยิ่งขึ้น และเราต้องพยายามลดแง่มุมเชิงลบของสุขภาพจิตและส่งเสริมสถานะความเป็นอยู่ที่เป็นบวกและดีต่อสุขภาพโดยรวม”
“ในผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงต่อโรคหัวใจ ผู้ประกอบวิชาชีพด้านสุขภาพจะต้องแก้ไขสุขภาวะทางจิตของผู้ป่วยควบคู่กับสภาวะทางกายซึ่งมีผลต่อร่างกาย เช่น ความดันโลหิต ระดับคอเลสเตอรอล อาการปวดหัวอก เป็นต้น
ข้อจำกัดของการศึกษา
เนื่องจากการศึกษาหลายชิ้นที่คณะทำงานวิเคราะห์เป็นการศึกษาเชิงสังเกตการณ์และอาศัยการรายงานด้วยตนเองเป็นหลัก จึงยากที่จะกำหนดเป็นความสัมพันธ์เชิงเหตุและผลที่เจาะจงชัดเจน
อย่างไรก็ตาม เนื่องจากปริมาณแท้จริงของข้อมูลที่ศึกษาซึ่งสะท้อนถึงความสัมพันธ์ระหว่างสุขภาพจิตที่ไม่พึงประสงค์กับความเสี่ยงต่อโรคหัวใจและหลอดเลือด ผู้เขียนรายงานกล่าวว่า ข้อมูลนี้เพียงพอที่จะแสดงให้เห็นถึงความเชื่อมโยงที่ชัดเจนระหว่างจิตใจ หัวใจ และร่างกาย