รายงานฉบับใหม่แสดงว่า การบริโภคยาปฏิชีวนะทั่วโลกและระดับของการดื้อยายังเพิ่มขึ้นต่อไป โดยหลายประเทศในโลกกำลังพัฒนากำลังเผชิญกับอัตราการดื้อยาที่น่าเป็นห่วง
ผลการค้นพบจากรายงานของ State of the World’s Antibiotics in 2021 แสดงว่า แม้การบริโภคยาปฏิชีวนะต่อหัวในประเทศรายได้ต่ำและรายได้ปานกลางยังคงต่ำกว่าประเทศที่ร่ำรวยก็ตาม แต่อัตราการบริโภคกำลังมีแนวโน้มที่จะเบนเข้าหากันมากขึ้น
แนวโน้มดังกล่าวสะท้อนให้เห็นถึงการเพิ่มความพยายามมากขึ้นเพื่อให้มีการใช้ยาต้านจุลชีพอย่างสมเหตุผล (antibiotic stewardship) ในประเทศที่มีรายได้สูง ซึ่งในประวัติศาสตร์ที่ผ่านมามีอัตราการใช้ยาปฏิชีวนะในอัตราที่สูง ในขณะที่ประเทศรายได้ต่ำและปานกลางมีการเข้าถึงยาปฏิชีวนะมากขึ้น นอกจากนั้น ยังสะท้อนถึงปัญหาที่ประเทศรายได้ต่ำและปานกลางต้องแบกภาระจากโรคมากขึ้น รวมทั้งการใช้ยาปฏิชีวนะอย่างไม่เหมาะสมที่เพิ่มสูงขึ้นในประเทศที่มีรายได้ต่ำและปานกลางบางประเทศ
“ไม่มีความแตกต่างมากนักระหว่างสถานการณ์ที่กำลังเกิดขึ้นในประเทศรายได้ต่ำและปานกลางกับสถานการณ์ที่กำลังเกิดขึ้นในประเทศรายได้สูง” Ramanan Laxminarayan PhD, MPH, ผู้อำนวยการ Center for Disease Dynamics, Economics and Policy (CDDEP) กรุงวอชิงตัน ดี.ซี. กล่าว ระหว่างการสัมมนาผ่านระบบออนไลน์เพื่อเผยแพร่รายงาน
ขณะเดียวกัน รายงานยังแสดงให้เห็นด้วยว่า อัตราการดื้อยาปฏิชีวนะโดยเฉลี่ยในประเทศรายได้ต่ำและปานกลางเพิ่มสูงขึ้น โดยเห็นได้ชัดเจนที่สุดในเชื้อก่อโรคดื้อยาหลายชนิด (multidrug-resistant pathogen) เช่น Acinetobacter baumannii และ Klebsiella pneumoniae และรวมไปถึงเชื้อแบคทีเรียก่อโรคอื่นๆ อีกหลายชนิด
“ระดับของการดื้อยาในประเทศรายได้ต่ำและปานกลางสูงมากเป็นพิเศษ เกินกว่าร้อยละ 20 ในหลายๆ ตัวอย่าง และขยับขึ้นไปสูงถึงร้อยละ 80” Dr. Laxminarayan กล่าว
กระดานสรุปภาพรวมแสดงแนวโน้มการดื้อยาปฏิชีวนะรายประเทศ
รายงานนี้แสดงข้อมูลล่าสุดที่ปรับใหม่จากรายงานของ CDDEP ปี 2015 ว่าด้วยการใช้และการดื้อยา ปฏิชีวนะทั่วโลก โดยอาศัยข้อมูลจาก ResistanceMap ซึ่งเป็นเว็บไซด์ที่ CDDEP สร้างขึ้น ได้รวบรวมข้อมูลการดื้อยาต้านจุลชีพ (antimicrobial resistance: AMR) ทั่วโลก และข้อมูลการบริโภคยาปฏิชีวนะจากแหล่งต่างๆ รายงานนี้ได้ให้ภาพรวมสุขภาพเป็นภาพเดียว ครอบคลุมทั้งแนวโน้มของทั่วโลกและแนวโน้มในแต่ละประเทศ โดยรายงานได้รวมเอากระดานสรุปภาพรวมข้อมูล (dashboard) ที่แสดงสถานภาพของการใช้ยาปฏิชีวนะและการดื้อยาในมนุษย์และสัตว์ใน 40 ประเทศ
แต่ละกระดาษสรุปภาพรวมข้อมูลจะแสดงอัตราการใช้ยาปฏิชีวนะของประเทศสำหรับมนุษย์และสัตว์ อัตราการดื้อยาของเชื้อก่อโรคที่ดื้อยาหลายชนิด (Staphylococcus aureus ซึ่งดื้อยา methicillin, K pneumonia ซึ่งดื้อยา carbapenem, และ Escherichia coli ซึ่งดื้อยา cephalosporin รุ่นที่ 3) และอัตราการดื้อยาในแบคทีเรียที่พบทั่วไปในสัตว์นำมาผลิตอาหาร
และยังได้รวมดัชนีสาธารณสุขต่างๆ ซึ่งอาจเป็นตัวผลักดันสำคัญของการดื้อยาปฏิชีวนะไว้ด้วย เช่น การอุบัติการณ์ของวัณโรค อัตราการตายจาก pneumococcus ในเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี และการเข้าถึงอุปกรณ์อำนวยความสะดวกในการล้างมือ
กระดานสรุปภาพรวมข้อมูลยังนำเสนอดัชนีการดื้อยา (Drug Resistance Index: DRI) ของแต่ละประเทศไว้ด้วย ดัชนีนี้เป็นมาตรวัดมาตรฐานที่ CDDEP พัฒนาขึ้นมา โดยรวมเอาข้อมูลการใช้ยาปฏิชีวนะและการดื้อยาเป็นตัวเลขเดียว ที่วัดประสิทธิผลโดยเฉลี่ยในแต่ละประเทศของยาปฏิชีวนะที่ใช้เพื่อจัดการเชื้อแบคทีเรียก่อโรคที่องค์การอนามัยโลกเห็นว่ามีความสำคัญอย่างมาก
คะแนน DRI ที่สูง (บนมาตรวัดจาก 0 ถึง 100) จะแสดงว่า มีปัญหาการดื้อยามากขึ้น แม้ไม่ใช่ทุกประเทศที่มีข้อมูลเพียงพอสำหรับคำนวณคะแนน DRI แต่ประเทศรายได้ต่ำและปานกลางมีคะแนนสูงสุดในบางเรื่อง
“สิ่งที่เราเห็น คือ การดื้อยาเป็นปัญหาในประเทศส่วนใหญ่ แต่เป็นปัญหาที่ใหญ่ขึ้นในวันนี้สำหรับประเทศรายได้ต่ำและปานกลาง ซึ่งมีแรงผลักดันมาจากการบริโภคยาปฏิชีวนะมากขึ้นในบางประเทศ” Dr. Laxminarayan กล่าว
หนึ่งในบรรดาประเทศรายได้ต่ำและปานกลางที่พบว่าการบริโภคยาปฏิชีวนะเพิ่มขึ้นอย่างมาก คือ เวียดนาม ซึ่งการใช้ยาปฏิชีวนะต่อคนเพิ่มขึ้นร้อยละ 286.5 จากปี 2010 ถึงปี 2020 ในขณะที่กระดานสรุปภาพรวมข้อมูลแสดงว่าประเทศรายได้สูงหลายประเทศมีการบริโภคยาปฏิชีวนะต่อคนลดน้อยลงในรอบทศวรรษที่ผ่านมา
Dr. Laxminarayan ชี้ให้เห็นว่า การดื้อยาปฏิชีวนะเกี่ยวข้องกับหลายปัจจัย และการบริโภคยาปฏิชีวนะเพิ่มขึ้นนั้นไม่จำเป็นที่จะต้องเป็นสิ่งที่ไม่ดี เพราะเป็นเวลาหลายสิบปีแล้วที่ประชากรจำนวนมากในประเทศยากจนไม่มีโอกาสเข้าถึงยาปฏิชีวนะซึ่งใช้กันแพร่หลายในประเทศร่ำรวย
ตัวอย่างเช่น เด็กประมาณ 150,000 คนในประเทศอินเดียเสียชีวิตทุกๆ ปี เพราะขาดการเข้าถึงยาเพนิซิลลิน
แต่รายงานยังแสดงให้เห็นว่า ประเทศรายได้ต่ำและปานกลางในลาตินอเมริกา อัฟริกา และเอเชียมีการบริโภคยาปฏิชีวนะเพิ่มขึ้นสูงที่สุด ซึ่งเป็นยาที่อยู่ในกลุ่มเฝ้าระวัง (Watch and Reserve categories) ขององค์การอนามัยโลก ยาปฏิชีวนะในกลุ่ม Watch antibiotics ประกอบด้วยยาหลายชนิดที่มีความเสี่ยงต่อการสูญเสียประสิทธิผลและควรจัดลำดับความสำคัญให้เป็นเป้าหมายหลักของการใช้ยาอย่างสมเหตุผล ในขณะที่ยาปฏิชีวนะในกลุ่ม Reserve antibiotic เป็นยาที่ควรใช้เฉพาะการติดเชื้อดื้อยาหลายชนิด
แม้สิ่งที่กล่าวมาจะสะท้อนถึงการติดเชื้อที่มีการดื้อยามากขึ้น ซึ่งจำเป็นต้องใช้ยาปฏิชีวนะที่มีฤทธิ์มากขึ้น แต่ยังแสดงให้เห็นว่า มีการใช้ยาปฏิชีวนะเหล่านี้อย่างไม่เหมาะสม บางทีอาจเป็นเพราะเราไม่มีทางเลือกที่มียาจำกัดลงมา
“ในด้านหนึ่ง เราขาดการเข้าถึงยาธรรมดาๆ ง่ายๆ ซึ่งมีราคาไม่กี่สตางค์ และในอีกด้านหนึ่ง เรามีการดื้อยาเพราะประชาชนซื้อยาที่แพงมาก ทั้งๆ ที่ไม่มีความจำเป็นต้องใช้ยานั้นเลย” Dr.Laxminarayan กล่าว
Dame Sally Davies ผู้เข้าร่วมการสัมมนาออนไลน์ ตัวแทนพิเศษว่าด้วยการดื้อยาปฏิชีวนะ จากสหราชอาณาจักร กล่าวว่า เธอคิดว่าการใช้กระดานสรุปภาพรวมข้อมูลเพื่อติดตามและรายงานปัญหาการดื้อยาต้านจุลชีพเป็นวิธีที่ดีที่จะช่วยประชาชนทั่วไปและผู้กำหนดนโยบายให้เข้าใจปัญหา ด้วยความหวังที่จะกระตุ้นให้เกิดการลงมือกระทำ
“ถ้าคุณมองสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นกับโควิด คุณจะเห็นกระดานสรุปภาพรวมที่สามารถหาดูและเข้าถึงได้ และแสดงให้สาธารณชนและนักการเมืองได้เห็น กระดานนี้แสดงให้เห็นถึงความเร่งด่วนของปัญหา” เธอกล่าว
เราจะต้องมีเป้าหมาย
Dr. Laxminarayan บอกว่า รายงานปี 2015 เผยแพร่ออกมาในเวลาที่ประเทศร่ำรวยหลายประเทศกำลังเริ่มสนใจกับการดื้อยาปฏิชีวนะและได้เริ่มพัฒนาแผนปฏิบัติการแห่งชาติขึ้นมา แต่ประเทศส่วนใหญ่ในโลกยังไม่ได้เริ่มจับมือทำงานร่วมกัน ต่อมาเมื่อถึงการประชุมระดับสูงขององค์การสหประชาชาติในปี 2016 ที่ประชุมได้เน้นให้การดื้อยาต้านจุลชีพเป็นปัญหาสุขภาพของทั่วโลก
ในที่ประชุม Dr. Laxminarayan และผู้เข้าร่วมประชุมคนอื่นๆ กล่าวให้ความเห็นว่า ควรจะมีเป้าหมายระดับโลกและระดับประเทศว่าด้วยการใช้ยาปฏิชีวนะและอัตราการดื้อยา แต่หลายประเทศลังเลที่จะเข้ามารับผิดชอบเพื่อให้บรรลุเป้าหมายเหล่านี้ เขากล่าวว่า รายงานที่ปรับปรุงล่าสุดแสดงให้เห็นว่า จำเป็นต้องทบทวนประเด็นของเป้าหมายต่างๆ กันใหม่
“ณ ขณะนี้เราคิดว่า อีก 5 ปีข้างหน้า ที่ผ่านมาการขาดความคืบหน้าในปัญหานี้ทำให้มีความจำเป็นที่เราต้องออกความเห็นกันอีกว่า ถ้าไม่มีเป้าหมายที่สามารถวัดได้แล้ว การผลักดันให้มีความก้าวหน้าเกี่ยวกับการดื้อยาต้านจุลชีพจะเป็นเรื่องที่ทำได้ยาก”
Davies ซึ่งเสียดายกับการขาดความคืบหน้าและการสูญเสียแรงหนุนทั่วโลกต่อปัญหาการดื้อยาต้านจุลชีพ นับตั้งแต่การประชุมสหประชาชาติในปี 2016 เห็นด้วยที่ควรให้เป้าหมายทั้งหลายเป็นส่วนหนึ่งของแผนปฏิบัติการแห่งชาติ แต่เธอบอกว่า จำเป็นที่จะต้องมีกลุ่มอิสระที่มีลักษณะเหมือนกับ Intergovernmental Panel on Climate Change ซึ่งสามารถให้เป้าหมายเชิงประจักษ์แก่ประเทศต่างๆ ได้
“เราต้องการกลไกที่ช่วยให้เราสามารถเสนอคำแนะนำเรื่องเป้าหมายได้อย่างอิสระ” Davies กล่าว