วัคซีนช่วย 37 ล้านชีวิตส่วนใหญ่เป็นเด็กในสองทศวรรษที่ผ่านมา

HealthDay News

รายงานฉบับใหม่พบว่า วัคซีนป้องกัน 10 โรคสำคัญ ช่วยประชากร 37 ล้านคน ไม่ให้เสียชีวิตระหว่างปี 2000 ถึง 2019 ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเด็กในประเทศรายได้ต่ำถึงปานกลางทั่วโลก
          คณะผู้วิจัยคาดว่าการให้วัคซีนจะช่วยป้องกันประชากรทั้งหมด 69 ล้านคน ไม่ให้เสียชีวิตระหว่างปี 2000 ถึงปี 2030 อีกด้วย
          การศึกษาด้วยตัวแบบจำลองยังแสดงให้เห็นว่า การให้วัคซีนป้องกันโรคสำคัญ 10 โรค ซึ่งรวมทั้งโรคหัด โรตาไวรัส HPV และไวรัสตับอักเสบ บี จะช่วยให้ประชากรที่เกิดในปี 2019 มีความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตน้อยลงร้อยละ 72 จากโรคเหล่านี้ไปตลอดชีวิต
          “มีการลงทุนที่จำเป็นมากในโครงการให้วัคซีนสำหรับเด็กในประเทศรายได้ต่ำและปานกลาง ซึ่งทำให้เด็กที่ได้รับวัคซีนมีจำนวนเพิ่มขึ้น” Caroline Trotter ผู้ร่วมเขียนรายงานการศึกษาและเป็นนักวิจัยโรคติดต่อที่ University of Cambridge ในสหราชอาณาจักร กล่าว
          ประโยชน์อันสูงสุดของการให้วัคซีนเกิดขึ้นกับเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี ในเด็กกลุ่มนี้ การเสียชีวิตจาก 10 โรคดังกล่าว จะเพิ่มขึ้นร้อยละ 45 ถ้าไม่ได้รับวัคซีน ตามรายงานการค้นพบที่เผยแพร่ในวารสารการแพทย์ The Lancet
          การให้วัคซีนต้านโรคหัดจะให้ผลกระทบมากที่สุด โดยช่วยป้องกันการเสียชีวิตได้ 56 ล้านคน ระหว่างปี 2000 และ 2030 ตลอดชีวิตของประชากรที่เกิดระหว่างปีดังกล่าว การให้วัคซีนจะช่วยป้องกันการเสียชีวิตได้ 120 ล้านคน โดยในจำนวนนี้เป็นเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี จำนวน 65 ล้านคน
          โดยการศึกษาครั้งนี้ได้ประเมินโครงการให้วัคซีนใน 98 ประเทศ
          เชื้อก่อโรคอื่น ๆ ที่มีการศึกษา ได้แก่ โรคฮิบซึ่งเกิดจากแบคทีเรีย Haemophilus influenzae type B (Hib); โรคไข้สมองอักเสบ (Japanese Encephalitis: JE); โรคไข้กาฬหลังแอ่น (Neisseria meningitidis serogroup A: MenA); โรคที่เกิดจากการติดเชื้อ Streptococcus pneumoniae; โรคหัดเยอรมัน (Rubella Virus); และ ไวรัสไข้เหลือง (Yellow Fever virus: YF)
          ผลการค้นพบแสดงว่า ถ้าโครงการมีความคืบหน้าต่อไป ระบบสาธารณสุขที่ได้รับวัคซีนจะเพิ่มขึ้นต่อไปในอีกหลายสิบปีข้างหน้า
          การประเมินผลกระทบจากโครงการดังกล่าวต่อการสาธารณสุขเป็นกุญแจสำคัญสำหรับการลงทุนอย่างต่อเนื่องกับการให้วัคซีน เธอกล่าว
          “ตัวแบบจำลองของเราได้ให้หลักฐานที่หนักแน่นถึงประสิทธิผลของโครงการให้วัคซีน (ในประเทศรายได้ต่ำและปานกลาง) และชี้ให้เห็นสิ่งที่อาจจะสูญเสียไป ถ้าโครงการให้วัคซีนขาดความยั่งยืน” Trotter กล่าวในข่าวเผยแพร่ของวารสาร
          ผู้ร่วมเขียนรายงานการศึกษา Neil Ferguson ศาสตราจารย์ที่ Imperial College London กล่าวว่า การค้นพบแสดงถึงประโยชน์อันมหาศาลในระบบสาธารณสุขที่เกิดขึ้นได้ โดยผ่านโครงการให้วัคซีนแห่งชาติ
          “จากการพยากรณ์ไปถึงปี 2030 ใน 98 ประเทศ เราได้ให้ภาพว่า การลงทุนในวัคซีนควรครอบคลุมไปทิศทางไหน เพื่อให้ได้เกิดประโยชน์ต่อไป ตัวอย่างเช่น การเพิ่มวัคซีน HPV ให้ครอบคลุมในเด็กผู้หญิงและ Pneumococcal Conjugate Vaccines [PCV] ในเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี จะให้ผลมากที่สุดตามแบบจำลองของเรา”