เมื่อผิวหนังแก่

ผศ.นพ.เจตน์ วิทิตสุวรรณกุล

ในปัจจุบันนี้ประเทศไทยเข้าสู่สังคมของผู้สูงอายุ ผิวหนังก็เป็นอวัยวะขนาดใหญ่ที่สุดของร่างกาย เมื่อเราอายุเพิ่มขึ้นผิวก็จะต้องเริ่มแก่ขึ้น  คราวนี้ผิวที่แก่ขึ้นนอกจากความแก่จะหย่อนคล้อยของผิวหนังแล้ว ก็ยังนำมาสู่โรคและการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ซึ่งทำให้บางครั้งเรากังวลว่าโรคเหล่านี้เป็นอันตรายหรือไม่อย่างไร ดังนั้น สมาคมแพทย์ผิวหนังแห่งประเทศไทยจะขอแนะนำ 7  โรค หรือภาวะผิวหนังซึ่งเกิดการเปลี่ยนแปลงและพบได้บ่อย ๆ ในผู้สูงอายุ 

          โรคแรกที่พบบ่อยที่สุด คือ 1. โรคกระเนื้อ จะพบได้ทั้งในร่มผ้าและนอกร่มผ้า ทั้งบริเวณที่โดนแดดและบริเวณที่ไม่โดนแดด กระเนื้อมักจะพบในหลาย ๆ จุด ไม่ได้พบจุดเดียว มักจะพบหลาย ๆ ตำแหน่ง มีลักษณะเหมือนก้อนดินน้ำมันแปะอยู่ที่ผิวหนัง เมื่อเราดูในรายละเอียดจะเห็นว่าก้อนมีผิวขรุขระ ดังนั้น ถ้าพบโรคในลักษณะแบบนี้ไม่ต้องกังวลใจ  เป็นเพียงการเปลี่ยนแปลงของผิวหนังที่พบได้เสมอเมื่ออายุมากขึ้น ปัจจัยสำคัญก็คือ ประวัติครอบครัว เรามักจะมีญาติหรือพ่อแม่ที่เป็นโรคเหล่านี้ด้วย กระเนื้อไม่มีอันตรายอะไรเพียงแต่ว่าบางครั้งอาจจะมีการอักเสบและระคายเคืองทำให้แดงได้เท่านั้น อย่างไรก็ตาม ถ้าเกิดว่ามีการเปลี่ยนแปลงที่สงสัยก็สามารถมาพบแพทย์ผิวหนังหรือแพทย์ทั่วไปเพื่อตรวจวินิจฉัยได้
          2.โรคติ่งเนื้อ  ติ่งเนื้อจะเป็นตุ่มยื่นหลาย ๆ ตุ่มบริเวณซอกพับของร่างกาย ไม่ว่าจะเป็นลำคอ รักแร้ หรือว่าขาหนีบ  ไม่มีอันตราย ในบางครั้งติ่งเนื้ออาจจะเกิดการระคายเคืองได้เช่นกัน เมื่อถูกับเสื้อผ้าหรือสร้อยคอที่สวมใส่ ก็อาจจะทำให้เกิดการแดงและอักเสบได้  
          3. ไฝแดง หรือ Cherry Angioma  เมื่อผิวหนังมีอายุมากขึ้นจะเกิดการเพิ่มจำนวนหรือการขยายของเส้นเลือดบริเวณผิวหนังชั้นบน เกิดตุ่มแดง ๆ ขึ้นตามร่างกาย  โดยเฉพาะตามลำตัว ไฝแดงก็ไม่มีอันตรายอีกเช่นกัน เป็นเพียงการเปลี่ยนแปลงเมื่ออายุเพิ่มขึ้น แต่บางครั้งจะเกิดการอุดตันในหลอดเลือดของไฝแดงทำให้ไฝเปลี่ยนเป็นสีดำและมีอาการเจ็บ ถ้ามีอาการเหล่านี้ควรมาตรวจวินิจฉัยให้แน่นอนว่าเป็นไฝแดงหรือเป็นโรคอื่น ๆ
          4. ต่อมไขมันขยายขนาดโตขึ้น มักพบบริเวณใบหน้าและพบได้เสมอเมื่อผิวแก่ ต่อมไขมันที่โตขึ้นจะมีลักษณะเป็นตุ่มเหลือง ๆ มักมีหลุมตรงกลางที่เรียกว่าเป็น  Umbilicated  Papule เหมือนเป็นร่องลงไป ซึ่งเป็นการขยายขนาดของต่อมไขมันเมื่อเรามีอายุเพิ่มขึ้น ซึ่งไม่มีอันตราย แต่บางครั้งอาจจะทำให้ดูคล้ายมะเร็งผิวหนังที่พบบ่อยในชื่อ basal cell carcinoma ได้ หากสงสัยก็มาพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัย ส่วนอีก 3 โรค ที่จะกล่าวถึงเป็นโรคที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงเนื่องจากผิวอายุเยอะขึ้นและถูกทำร้ายจากแสงแดด
          5. โรคก่อนมะเร็งผิวหนัง (Actinic Keratosis) ส่วนใหญ่เกิดบริเวณผิวหนังที่โดนแดด ไม่ว่าจะเป็นบริเวณแขน ใบหน้า หรือหนังศีรษะในกรณีที่ไม่ค่อยมีเส้นผมหลงเหลืออยู่แล้ว  ลักษณะของโรคนี้จะเป็นกลุ่มของตุ่มสีแดง ๆ แล้วก็มีพื้นผิวขรุขระ ถ้าใช้มือลูบสัมผัสจะรู้สึกว่ามีสะเก็ดแล้วก็ให้ความรู้สึกหยาบและสาก  
          6. โรคมะเร็งผิวหนังชนิด Squamous Cell Carcinoma จะเป็นก้อนโตเร็ว บางครั้งมีอาการเจ็บแล้วก็จะแตกออกเป็นแผลได้ บางครั้งอาจพบบริเวณผิวหนังที่ปกติหรือผิวหนังที่มี Actinic Keratisis ร่วมด้วย สุดท้ายโรคที่
          7.โรคมะเร็งผิวหนังชนิด Basal Cell Carcinoma เป็นมะเร็งที่พบได้บ่อยที่สุดของมนุษย์และเป็นมะเร็งผิวหนังที่พบบ่อยที่สุดด้วย โดยทั่วไปจะเห็นเป็นตุ่มใส ๆ แล้วก็มีสีแดง ๆ ของเส้นเลือดที่ขยายตัว  บางครั้งผู้ป่วยเข้าใจว่าเป็นไฝ แต่ก็ให้ระลึกไว้เสมอว่า ไฝจะไม่ได้เกิดขึ้นบ่อย ๆ เมื่ออายุมากขึ้น  ดังนั้น ถ้าเห็นตุ่มลักษณะคล้ายไฝดูมัน ๆ ให้มาพบแพทย์ผิวหนังเพื่อตรวจ เพราะว่า Basal Cell Carcinoma แม้จะพบบ่อยแต่ว่ารักษาได้ง่ายแล้วก็ไม่มีอันตราย ถ้าตรวจวินิจฉัยและรักษาได้รวดเร็ว
          หวังว่าคงจะได้ความรู้และเป็นประโยชน์ในการรู้จักโรคหรือการเปลี่ยนแปลงของผิวหนังเมื่อผิวแก่ และหากมีข้อสงสัยสามารถปรึกษาแพทย์ผิวหนังหรือแพทย์อายุรกรรมใกล้บ้านได้ครับ