โรคใคร่เด็ก Pedophilia อาการจิตป่วยอันตราย สังเกตให้ไวก่อนลูกหลานตกเป็นเหยื่อ

จะสังเกตยังไงว่าใครเป็นโรคใคร่เด็ก หรือมีพฤติกรรมที่ส่อไปในทางไม่ดีกับเด็ก ๆ พร้อมวิธีดูแลลูกหลานให้ปลอดภัย ไม่เข้าใกล้คนอันตรายอย่างนี้
          โรคใคร่เด็ก เห็นเด็กแล้วเกิดอารมณ์ทางเพศอย่างที่เราได้ยินข่าวกันมานับไม่ถ้วน ทำให้หลายคนสงสัยว่าโรคใคร่เด็กคืออะไร อาการเป็นอย่างไร การรักษาต้องใช้วิธีไหน แล้วถ้าเราเจอผู้ป่วยโรคนี้ จะป้องกันบุตรหลานของตัวเองไม่ให้ถูกล่วงละเมิดทางเพศได้อย่างไร นี่คือเรื่องสำคัญที่พ่อแม่ผู้ปกครองควรทำความเข้าใจ

โรคใคร่เด็ก คืออะไร
          โรคใคร่เด็ก หรือที่ภาษาอังกฤษเรียกว่า Pedophilia คือ หนึ่งในอาการบกพร่องทางจิตประเภทหนึ่งในกลุ่มโรคกามวิปริตที่มักเกิดความต้องการทางเพศกับเด็ก ชอบเด็กหรือรักเด็กมากในลักษณะคลั่งไคล้เกินขอบเขตปกติ โดยมักจะเกิดอารมณ์เมื่อเห็นภาพเด็ก และเกิดความติดตาตรึงใจ จนอาจล่อลวงหรือทำร้ายเด็กเพื่อตอบสนองอารมณ์ทางเพศของตัวเอง
          โดยโรคใคร่เด็กมักพบได้บ่อยในเพศชายที่มีอายุ 35-40 ปีขึ้นไป แต่ก็อาจเจอได้ในวัยรุ่นตอนปลายเช่นกัน ทางการแพทย์จึงมีการกำหนดว่า ผู้ที่มีอายุมากกว่า 16 ปี ที่กระทำการล่วงละเมิดทางเพศกับเด็กอายุน้อยกว่าอย่างน้อย 5 ปี จะจัดเป็นโรคใคร่เด็ก

โรคใคร่เด็ก (Pedophilia) เกิดจากอะไร
          สาเหตุที่ทำให้คนเป็นโรคใคร่เด็กยังไม่แน่ชัดว่าเกิดจากอะไรกันแน่ แต่ก็มีงานวิจัยที่ชี้ว่า อาจมีผลมาจากพันธุกรรม หรือเกี่ยวข้องกับภูมิหลัง อย่างเช่น เคยมีประวัติถูกกระทำ เคยถูกล่วงละเมิดทางเพศ โดนข่มขืนในวัยเด็กมาก่อน หรือการเลี้ยงดูจากครอบครัวในวัยเด็ก ซึ่งอาจเกิดปมในใจและนำไปสู่กามวิปริตบางรูปแบบเมื่อโตขึ้น

โรคใคร่เด็ก เด็กกลุ่มไหนเสี่ยงเป็นเหยื่อ
          ผู้ที่เป็นโรคใคร่เด็กมักเกิดความใคร่กับเด็กก่อนถึงวัยเจริญพันธุ์ ไปจนถึงอายุ 13 ปี เช่น เด็กทารก, เด็กอนุบาล และเด็กประถม

โรคใคร่เด็ก อาการเป็นอย่างไร
          ต้องบอกว่าลักษณะภายนอกของผู้ป่วยโรคใคร่เด็กจะสังเกตได้ค่อนข้างยาก เพราะมักไม่แสดงพฤติกรรมที่ชัดเจน แต่ผู้ป่วยกลุ่มนี้ก็พอจะมีข้อสังเกต เช่น
          1. เป็นเพศชายอายุ 35-40 ปีขึ้นไป
          2. ไม่ค่อยมีความสุขกับคู่ครองในวัยเดียวกัน
          3. มักพบว่าคนใกล้ชิดของเด็กเป็นคนก่อเหตุ
          4. มักชอบคลุกคลีกับเด็ก ๆ หรือตีสนิทเด็กด้วยการพาไปเล่น ให้ขนม ให้เงิน เพื่อให้เด็กเชื่อใจ
          5. เกิดอารมณ์ทางเพศ หรือตื่นตัวกับเด็ก รูปภาพเด็ก คลิปวิดีโอของเด็กเท่านั้น
          6. ชอบมีความสัมพันธ์ทางเพศกับเด็กและกระทำซ้ำแล้วซ้ำอีกกับเด็กคนเดิมหรือคนใหม่
          7. มีรสนิยมทางเพศหรือรู้สึกกับเด็กในลักษณะข้างต้นนานกว่า 6 เดือน
          ทั้งนี้ ผู้ที่เป็นโรคใคร่เด็กจะเป็นผู้มีแรงดึงดูดทางเพศกับเด็กเล็ก ซึ่งอาจนำไปสู่การทำร้ายทางเพศหรือไม่ก็ได้ แต่หากมีพฤติกรรมทำร้ายทางเพศต่อเด็กแล้ว ก็มักมีแนวโน้มที่จะกระทำเช่นนั้นซ้ำอีก แต่อย่างไรก็ตาม คนที่ทำร้ายเด็กทางเพศนั้น หลายคนก็ไม่ได้เกิดจากการที่เป็นโรคใคร่เด็ก แต่อาจกระทำด้วยสาเหตุอื่น ๆ เช่น
           - มีอารมณ์ทางเพศสูง
           - เมาสุรา
           - การไม่มีโอกาสที่เหมาะสมกับผู้ที่อยู่ในวัยเดียวกัน
           - มีภาวะหรือลักษณะนิสัยต่อต้านสังคม
           - ผู้ที่มีปัญหากับคู่สมรส
           - ผู้ที่มีปัญหาความผิดปกติทางด้านร่างกาย หรือจิตใจ
           - มีภาวะซึมเศร้ารุนแรง
           ดังนั้น ผู้ที่มีพฤติกรรมกระทำทารุณหรือทำร้ายเด็กทางเพศ อาจไม่ได้เกิดจากการที่เขาเป็นโรคใคร่เด็กเสมอไป และคนที่เป็นโรคใคร่เด็กเองก็อาจไม่มีพฤติกรรมการทารุณหรือทำร้ายเด็กทางเพศก็ได้ แต่อาจกระทำด้วยจินตนาการ สายตา คำพูด หรือท่าทางที่ส่อไปทางเรื่องเพศกับเด็กเท่านั้น ซึ่งก็อาจสร้างแผลใจให้เด็กได้เช่นกัน ซึ่งปัจจุบันโรคใคร่เด็กก็ไม่เข้าข่ายเป็นผู้ป่วยทางจิตเวช  ผู้กระทำความผิดจึงมีความผิดและต้องรับโทษตามประมวลกฎหมายอาญา

รูปแบบการกระทำทางเพศกับเด็กของผู้เป็นโรคใคร่เด็กมีอะไรบ้าง
          อย่างที่กล่าวไปว่า ผู้เป็นโรคใคร่เด็กมักจะมีพฤติกรรมส่อในทางเพศกับเด็กได้หลายรูปแบบ ซึ่งจำแนกได้ ดังนี้
          * ไม่มีการสัมผัสร่างกาย เช่น แอบดูเด็กอาบน้ำ พูดจาลวนลาม ให้เด็กดูอวัยวะเพศของตัวเอง
          * สัมผัสร่างกายแต่ไม่ได้ล่วงล้ำเข้าไปในอวัยวะเพศ เช่น สัมผัสร่างกายของเด็ก กอด จูบ ลูบ คลำ
          * ล่วงละเมิดทางเพศ เช่น การทำร้ายร่างกาย การกระทำชำเรา

โรคใคร่เด็ก รักษาได้ไหม
          โรคใคร่เด็กสามารถรักษาและบำบัดอาการให้มีชีวิตตามปกติได้ โดยวิธีรักษาผู้เป็นโรคใคร่เด็ก มีดังนี้
          1. การบำบัดทางความคิดและพฤติกรรม (Cognitive Behavioral Therapy หรือ CBT)
          2. การใช้ยาต้านซึมเศร้าและยาลดฮอร์โมนเพศชาย
          โดยแพทย์จะประเมินผู้ป่วยก่อนว่าอาการอยู่ในระดับไหน หากแค่คิดเชิงชู้สาวกับเด็กแต่ยังสามารถควบคุมและยับยั้งพฤติกรรมตนเองได้ แพทย์อาจใช้หลักจิตวิทยามาบำบัดรักษาเท่านั้น โดยอาจฝึกให้ผู้ป่วยสามารถระงับอารมณ์และความต้องการทางเพศกับเด็กเล็กได้ หรือหาวิธีอื่น ๆ เพื่อตอบสนองความต้องการทางเพศอย่างเหมาะสม ทว่า ในคนที่กระทำเชิงชู้สาวต่อเด็กโดยขาดความยับยั้งชั่งใจ แพทย์ก็จะใช้วิธีจิตบำบัดร่วมกับการใช้ยาช่วยในการรักษา

วิธีป้องกันบุตรหลานจากการถูกละเมิดทางเพศ
          ผู้ปกครองสามารถลดความเสี่ยงไม่ให้บุตรหลานตกเป็นเหยื่อได้ด้วยวิธีที่เพจตามใจนักจิตวิทยา และเพจนักสังคมสงเคราะห์เล่าเรื่อง ให้คำแนะนำดังต่อไปนี้
          - สอนเขาว่าอย่าคุยหรือห้ามไปไหนกับคนแปลกหน้า
          - สอนเขาว่าห้ามไปในสถานที่ที่ลับตาคนหรืออยู่ในสถานที่ใดที่เป็นห้องปิดกับผู้ใหญ่ หรือใครแบบสองต่อสอง เช่น ในห้องน้ำ ห้องนอน ตรอก ซอก ซอย เป็นต้น
          - ไม่ให้กินอาหารหรือดื่มน้ำที่ได้จากคนแปลกหน้า
          - สอนลูกให้จดจำเบอร์โทรศัพท์และชื่อจริงของพ่อแม่เสมอ
          - ไม่ควรทิ้งลูกไว้กับผู้ใหญ่ในบ้านตามลำพัง
          - สอนเขาว่าถ้าเผชิญสถานการณ์ที่มีคนจะมาทำร้ายเราให้ตะโกนหรือกรี๊ดดัง ๆ ให้คนมาช่วย และวิ่งหนีให้เร็วที่สุด วิ่งไปยังที่มีคนอยู่มาก ๆ หรือถ้าต้องซ่อนก็ต้องตั้งสติซ่อนตัวให้เงียบที่สุด
          - สอนเด็กให้สามารถระบุภัยทางเพศได้ โดยให้เขารู้จักความรู้สึกที่ดี และความรู้สึกที่ไม่ดี ควบคู่ไปกับการรู้จักอวัยวะในร่างกายของตนเอง รู้ว่าจับตรงไหนปลอดภัย ตรงไหนอันตราย
          - สอนให้เขารู้ว่าใครสามารถเข้าใกล้และสัมผัสอวัยวะแต่ละส่วนของเขาได้บ้าง โดยเฉพาะส่วนสงวนอันได้แก่ ริมฝีปาก, หน้าอก, อวัยวะเพศหรือบริเวณหว่างขา และก้น เพราะเป็นจุดที่ละเอียดอ่อน ไวต่อการสัมผัส ถ้าคนอื่นมาโดน มาจับ เขาอาจรู้สึกอยากทำอะไรมากกว่าแค่จับ ลูบ หรือแตะต้อง และเขาอาจทำร้ายหนูได้
          - สอนเด็กเสมอว่าถ้ามีใครมาจับก้น นม จิ๋ม หรือจู๋ ให้มาบอกพ่อแม่ หรือถ้าพ่อแม่จับก็ให้มาบอกคุณครู
          - พ่อและแม่ควรต้องรู้วิธีการแสดงความรักต่อลูกว่าแค่ไหนทำได้ ไม่ละเมิดสิทธิในร่างกายของลูก และไม่เป็นการสร้างความคุ้นชินผิด ๆ ให้เด็กเข้าใจว่าการจับที่สงวนเป็นเรื่องปกติ ใครมาทำกับร่างกายเขาก็ได้

หากบุตรหลานตกเป็นเหยื่อควรทำอย่างไร
          หากบุตรหลานตกเป็นเหยื่อของผู้ที่เป็นโรคใคร่เด็ก หรือถูกล่วงละเมิดทางเพศ พ่อแม่สามารถแจ้งไปได้ที่
          มูลนิธิศูนย์พิทักษ์สิทธิเด็ก 0-2412-1196 (ในเวลาราชการ)
          ศูนย์ช่วยเหลือสังคม 1300 (ตลอด 24 ชั่วโมง)
          และไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้นกับลูก พ่อและแม่ควรเยียวยาจิตใจเขาก่อนเป็นอันดับแรก โดยเพจตามใจนักจิตวิทยาแนะนำให้ปฏิบัติ ดังนี้
          * อย่าผิดหวังในตัวเขา อย่าหมดความรักให้กับลูก
          * ขอความช่วยเหลือจากจิตแพทย์และนักจิตวิทยา เพราะบาดแผลทางใจ ต้องใช้การเยียวยาระยะยาว
          * อยู่เคียงข้างลูก จนกว่าเขาจะกลับมายืนหยัดได้อีกครั้งหนึ่ง ระหว่างนั้นก็อย่าหมดหวังในตัวเขา
          * ย้ำให้เขารู้ว่า ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้นกับลูก ลูกเป็นสิ่งล้ำค่าของพ่อแม่เสมอ
          ไม่มีใครอยากให้เหตุการณ์ร้าย ๆ เกิดกับบุตรหลานของเราแน่ ๆ และผู้ใหญ่เองก็ไม่สามารถอยู่กับเด็ก ๆ ได้ตลอดเวลา การสอนลูกให้รู้จักปกป้องสิทธิและร่างกายของตัวเองได้ รู้ว่าการกอด การจับ การสัมผัสร่างกายแบบไหนปลอดภัย แบบไหนอันตรายจึงเป็นสิ่งที่สำคัญมาก ๆ ซึ่งการสร้างเกราะป้องกันขั้นแรกให้บุตรหลานก็ต้องเริ่มจากในครอบครัวนะคะ

ขอขอบคุณข้อมูลจาก  :    สำนักงานกิจการยุติธรรม 1, 2
                                    เพจ ตามใจนักจิตวิทยา
                                    เพจ นักสังคมสงเคราะห์เล่าเรื่อง
                                    สำนักข่าวไทย
                                    เพจ Drama-addict
                                    https://health.kapook.com/view248199.html