โดย เมดไทย
ปรับปรุงเมื่อ 30 มีนาคม 2020
บอน
บอน ชื่อสามัญ Elephant ear, Cocoyam, Dasheen, Eddoe, Japanese taro, Taro[3],[4],[5],[6]
บอน ชื่อวิทยาศาสตร์ Colocasia esculenta (L.) Schott[1] (ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Colocasia esculenta var. aquatilis Hassk.)[6] จัดอยู่ในวงศ์บอน (ARACEAE)[1]
บอน มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า ตุน (เชียงใหม่), บอนหอม (ภาคเหนือ), บอนจืด (ภาคอีสาน), บอนเขียว บอนจีนดำ (ภาคกลาง), บอนท่า บอนน้ำ (ภาคใต้), คึ (กะเหรี่ยง-เชียงใหม่), ขื่อที้พ้อ ขือท่อซู่ คึทีโบ คูชี้บ้อง คูไทย ทีพอ (กะเหรี่ยง-แม่ฮ่องสอน), กลาดีไอย์ (มาเลย์-นราธิวาส), กลาดีกุบุเฮง (มาเลย์-ยะลา), เผือก บอน (ทั่วไป), บอนหวาน เป็นต้น [1],[2],[8],[10],[12]
ลักษณะของต้นบอน
- ต้นบอน มีถิ่นกำเนิดอยู่ในเขตที่ราบลุ่มของเอเชียอาคเนย์ ซึ่งรวมถึงพื้นที่ของประเทศไทยด้วย [11] โดยจัดเป็นไม้ล้มลุกมีอายุได้หลายปี มีเหง้าลักษณะเป็นรูปทรงกระบอกอยู่ใต้ดิน มักขึ้นเป็นกลุ่ม ๆ หลายต้นเรียงรายตามพื้นที่ลุ่มริมน้ำ มีความสูงของต้นประมาณ 0.7-1.2 เมตร ลำต้นประกอบไปด้วยหัวกลางและหัวย่อยอยู่รอบ ๆ หัวใหญ่ ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการแยกหน่อ ไหล และวิธีการปักชำหัว เจริญเติบโตได้ดีในดินที่มีความอุดมสมบูรณ์ อุ้มน้ำได้ดี เพาะปลูกได้ง่าย ในประเทศไทยสามารถพบได้ทุกภาค มักขึ้นเองตามที่ลุ่ม บนดินโคลน บริเวณริมน้ำลำธาร หรือบริเวณที่มีน้ำขังตื้น ๆ [1],[3],[7]
- ใบบอน ใบเป็นใบเดี่ยวเรียงสลับเวียนแผ่ออกรอบต้น ลักษณะของใบเป็นรูปไข่แกมสามเหลี่ยมหรือเป็นรูปหัวใจหรือรูปโล่ ปลายใบแหลม โคนใบเว้าแหลม ใบมีขนาดกว้างประมาณ 10-35 เซนติเมตร และยาวประมาณ 20-50 เซนติเมตร ก้านใบออกที่ตรงกลางแผ่นใบ โคนใบแยกเป็นแฉกสองแฉก ด้านหน้าใบเป็นสีเขียว เรียบไม่เปียกน้ำเพราะผิวใบเคลือบไปด้วยไข (Wax) ส่วนด้านหลังใบเป็นสีเขียวอ่อนหรือม่วงหรือเป็นสีขาวนวล มองเห็นเส้นใบได้ชัดเจน ในแต่ละกอจะมีประมาณ 7-9 ใบ ก้านใบยาวออกจากต้นใต้ดิน ก้านใบยึดกับด้านล่างของใบ ก้านใบเป็นสีเขียวแกมม่วงหรือสีเขียวแกมเหลือง ก้านใบยาวประมาณ 30-90 เซนติเมตร[1],[3]
- ดอกบอน ออกดอกเป็นช่อเป็นแท่งเดี่ยว ๆ ออกจากลำต้นใต้ดิน มีกาบสีเหลืองอ่อนหรือสีเหลืองนวลหุ้มอยู่ ยาวประมาณ 26 เซนติเมตร ดอกย่อยแยกเพศอยู่ในช่อเดียวกัน ฉ่ำน้ำ (รูปที่ 2 โคนดอกสีเขียวคือดอกเพศเมีย ส่วนสีเหลืองปลายยอดคือดอกเพศผู้) ดอกเป็นกระเปาะสีเขียวเป็นแท่งอยู่ตรงกลาง มีกลิ่นหอมและต่อมาจะกลายเป็นผลเล็ก ๆ จำนวนมากที่ประกอบไปด้วยหัวกลางและหัวย่อยอยู่รอบหัวใหญ่[1],[3]
- ผลบอน ผลเป็นผลสดสีเขียว ภายในผลมีเมล็ดน้อย[1]
สรรพคุณของบอน
1.น้ำจากลำต้นใต้ดินเป็นยาแก้ไข้ (น้ำจากลำต้นใต้ดิน)[4]
2.รากนำมาต้มกับน้ำดื่มเป็นยาแก้อาการเจ็บคอและเสียงแหบแห้ง (ราก)[1],[8]
3.รากนำมาต้มกับน้ำดื่มเป็นยาแก้ท้องเสีย (ราก)[1],[8]
4.หัวใช้เป็นยาระบาย (หัว)[4],[7]
5.ช่วยขับปัสสาวะ (หัว)[4]
6.หัวมีรสเมาคัน ใช้เป็นยาแก้เถาดานในท้อง กัดฝ้าหนอง (หัว)[8]
7.หัวและน้ำจากก้านใบใช้เป็นยาห้ามเลือด (หัว, น้ำจากก้านใบ)[4],[7]
8.ลำต้นนำมาบดใช้เป็นยาพอกรักษาแผล รวมทั้งแผลจากงูกัด (ลำต้น)[4],[7]
9.น้ำจากลำต้นใต้ดินใช้เป็นยาแก้พิษแมลงป่อง (น้ำจากลำต้นใต้ดิน)[4]
10.ก้านใบมีรสเย็นคัน นำมาตัดหัวท้ายออกแล้วนำไปลนไฟบิดเอาน้ำใช้หยอดแผลแก้พิษคางคก (ก้านใบ)[8]
11.น้ำยางใช้เป็นยาถอนพิษจากแมลงสัตว์กัดต่อยได้ (น้ำยาง)[10]
12.ยางใช้เป็นยาช่วยกำจัดหูด (ยาง)[4]
13.ไหล หัว หรือ เหง้านำมาตำผสมกับเหง้าขมิ้น กะปิ ขี้วัว และเหล้าโรงเล็กน้อย ใช้เป็นยาพอกรักษาฝีตะมอย (ไหล)[1],[11]
14.น้ำคั้นจากก้านใบใช้เป็นยานวดแก้อาการฟกช้ำ (น้ำคั้นจากก้านใบ)[7]
15.หัวช่วยขับน้ำนมของสตรี (หัว)[4]
ข้อมูลทางเภสัชวิทยาของต้นบอน
-ในหลอดทดลองพบว่า สารสกัดจากใบบอนแห้งด้วยแอลกอฮอล์มีฤทธิ์ฆ่าเชื้อหนอง มีเส้นใยช่วยในการดูดซับสารก่อกลายพันธุ์[1]
-สารสกัดจากรากบอนด้วยเอทิลอะซิเตตมีฤทธิ์ในการยับยั้งการเจริญของเนื้องอก แต่ควรมีการทำการวิจัยต่อไป[1]
-หัวใต้ดินของต้นบอนมีฤทธิ์ช่วยลดความดันโลหิต[1]
-น้ำจากก้านใบมีฤทธิ์เป็นยากระตุ้นและทำให้เลือดมาเลี้ยงบริเวณนั้นมาก ทำให้บวมแดง[4]
ประโยชน์ของบอน
1.ไหลและหัวใต้ดินนำมาลวกหรือต้มรับประทานเป็นอาหารได้ ส่วนใบอ่อนและก้านใบอ่อน สามารถนำมาใช้ทำอาหารประเภทต้มได้ เช่น แกงส้ม แกงกะทิ แกงบอน เป็นต้น หรือจะนำมาลอกจิ้มน้ำพริกรับประทาน แต่ต้องทำให้สุกก่อนจึงจะไม่คัน โดยนำมาต้ม 2-3 ครั้ง แล้วคั้นเอาน้ำทิ้งหรือนำไปเผาไฟก่อนนำมาใช้ปรุงอาหาร (เวลาปอกเปลือกควรสวมถุงมือและสับเป็นท่อน ๆ ก่อนนำไปต้ม)[3],[6],[10],[12] นอกจากนี้ ก้านบอนยังนำมาดองได้อีกด้วย[11]
2.ชาวกะเหรี่ยงแม่ฮ่องสอนจะใช้ใบบอนมาต้มให้หมูกิน หรือจะใช้ก้านใบนำมาสับผสมเป็นอาหารหมู[10]
3.ใบบอนมีคุณสมบัติพิเศษ คือ ไม่เปียกน้ำ เพราะมีขี้ผึ้งเคลือบผิวใบอยู่ จึงนำมาใช้ประโยชน์ในด้านการห่อของได้ เช่น การใช้ห่อข้าวหมาก เป็นต้น นอกจากนี้ ยังนำมาใช้ตักน้ำดื่มยามไม่มีภาชนะได้อีกด้วย
4.ต้นบอนสามารถทำรายได้ให้กับชาวบ้านด้วยการตัดก้านบอนมาลอกเปลือกแล้วตากให้แห้ง ส่งขายเป็นสินค้าส่งออกอย่างหนึ่ง[11]
5.ใบบอนดูแล้วมีความสวยงาม ใช้ปลูกเป็นไม้ประดับได้ อันนี้ก็แล้วแต่คนชอบนะครับ อีกทั้งต้นบอนยังช่วยรักษาฝายชั่ง แม่น้ำลำคลอง ไม่ให้ถูกกัดเซาะจากคลื่นได้อีกด้วย[11]
ข้อควรรู้เกี่ยวกับบอน
-วิธีการเลือกบอน ให้เลือกใช้ต้นอ่อนพันธุ์สีเขียวสดและไม่มีสีขาวนวลเคลือบอยู่ตามแผ่นใบและก้านใบ โดยบอนสีเขียวสดจะเรียกว่า “บอนหวาน” (ชนิดคันน้อย) ส่วนชนิดที่มีสีซีดกว่าและมีสีขาวนวลกว่าจะเรียกว่า “บอนคัน” (ชนิดคันมาก) ส่วนที่นำมาใช้แกง คือ หลี่บอน เป็นยอดอ่อนหรือใบอ่อนของบอนที่อยู่ใกล้กับโคนต้น[9]
-ก่อนการปอกเปลือกก้านบอน ถ้าไม่ใส่ถุงมือ ก็ให้ทามือด้วยปูนแดงที่กินกับหมากให้ทั่วทั้งมือก่อน เวลาปอกควรล้างบอนให้สะอาดแล้วเช็ดให้แห้ง
-ห้ามล้างด้วยน้ำเย็น แล้วนำไปต้มใส่ในน้ำเดือดและคั้นน้ำทิ้งประมาณ 2-3 ครั้ง ก่อนนำไปประกอบอาหาร แต่บางคนอาจนำไปเผาก่อนก็ได้ หรือจะนำไปปรุงกับเครื่องปรุงที่มีรสเปรี้ยว เช่น มะขามเปียก มะดัน ส้มป่อย น้ำมะกรูด เป็นต้น หรือจะนำมาขยำกับเกลือเพื่อให้ยางบอนออกมากที่สุด เพื่อช่วยดับพิษคันหรือช่วยทำลายผลึกของแคลเซียมออกซาเลต (Calcium oxalate) ที่มีอยู่มากในต้นบอน[11],[12]
-การนึ่งบอนต้องนึ่งให้สุก จับดูแล้วมีลักษณะนิ่มจนเละ เพราะถ้าบอนไม่สุก เมื่อรับประทานแล้วจะทำให้เกิดอาการระคายคอได้[9]
-ในการปรุงแกงบอน หากไม่ใช้น้ำมะขามเปียก ก็ให้ใช้น้ำส้มป่อยแทนก็ได้[9]
-แม่ครัวสมัยก่อนจะถือเคล็ดด้วยว่า หากปรุงอาหารด้วยบอนอยู่นั้น ห้ามใครเอ่ยถึงคำที่เกี่ยวข้องกับความคันเด็ดขาด เพราะจะทำให้เกิดอาการคันขึ้นมาจริง ๆ ทั้งผู้ปรุงและผู้รับประทาน
ความเป็นพิษของต้นบอน
-น้ำยางและลำต้นหากสัมผัสผิวหนัง จะทำให้เกิดอาการคันและปวดแสบปวดร้อน แล้วต่อมาจะเกิดอาการอักเสบ บวมและพองเป็นตุ่มใส หากนำมาเคี้ยวหรือรับประทานสดจะทำให้เกิดอาการคันคออย่างรุนแรง เนื่องจากผลึกของแคลเซียมออกซาเลต (Calcium oxalate) ทำให้เกิดน้ำลายมาก ทำให้บวมบริเวณลิ้น ปาก เพดาน และใบหน้า ทำให้พูดจาลำบาก หากมีอาการเป็นพิษรุนแรงจะทำให้พูดไม่ได้ ลิ้นหนัก คันปาก ลำคอบวมและอักเสบอย่างรุนแรง[5]
คุณค่าทางโภชนาการของใบบอน ต่อ 100 กรัม
-พลังงาน 112 แคลอรี
-คาร์โบไฮเดรต 25.8 กรัม
-โปรตีน 2.1 กรัม
-ไขมัน 0.1 กรัม
-เส้นใยอาหาร 1.0 กรัม
-น้ำ 70.0 %
-เถ้า 1.0 กรัม
-วิตามินเอ 103 หน่วยสากล
-วิตามินบี 1 0.15 มิลลิกรัม
-วิตามินบี 2 0.17 มิลลิกรัม
-วิตามินบี 3 1.0 มิลลิกรัม
-วิตามินซี 2 มิลลิกรัม
-ธาตุแคลเซียม 84 มิลลิกรัม
-ธาตุฟอสฟอรัส 54 มิลลิกรัม
แหล่งที่มา : กองโภชนาการ กรมอนามัย. ตารางแสดงคุณค่าอาหารไทยในส่วนที่กินได้ 100 กรัม[3]
-พลังงาน 24 แคลอรี
-คาร์โบไฮเดรต 5.8 กรัม
-โปรตีน 0.5 กรัม
-ไขมัน 0.9 กรัม
-เส้นใยอาหาร 0.9 กรัม
-น้ำ 92.7 %
-วิตามินเอ 300 หน่วยสากล
-วิตามินบี 1 0.02 มิลลิกรัม
-วิตามินบี 2 0.04 มิลลิกรัม
-วิตามินบี 3 13 มิลลิกรัม
-วิตามินซี 1 มิลลิกรัม
-ธาตุแคลเซียม 49 มิลลิกรัม
-ธาตุฟอสฟอรัส 25 มิลลิกรัม
-ธาตุเหล็ก 0.9 มิลลิกรัม
แหล่งที่มา : กองโภชนาการ กรมอนามัย. ตารางแสดงคุณค่าอาหารไทยในส่วนที่กินได้ 100 กรัม[3]
เอกสารอ้างอิง
1.หนังสือสมุนไพรพื้นบ้านล้านนา. (ภาควิชาเภสัชพฤกษศาสตร์ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล). “บอน”. หน้า77.
2.ฐานข้อมูลพรรณไม้ องค์การสวนพฤกษศาสตร์, กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม. “Colocasia esculenta (L.) Schott”. อ้างอิงใน: หนังสือพืชเศรษฐกิจในประเทศไทย (หน้า 207). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.qsbg.org. [30 มี.ค. 2014].
3.ผักพื้นบ้านในประเทศไทย, กรมส่งเสริมการเกษตร. “บอน”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: 203.172.205.25/ftp/intranet/Research_AntioxidativeThaiVegetable/. [30 มี.ค. 2014].
4.สวนพฤกษศาสตร์โรงเรียน มหาวิทยาลัยราชภัฏอุตรดิตถ์. “บอน”. อ้างอิงใน: หนังสือสมุนไพร..ไม้พื้นบ้าน 2 (นันทวัน บุญยะประภัศร). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: uttaradit.uru.ac.th/~botany/. [30 มี.ค. 2014].
5.การศึกษาอนุกรมวิธานของพืชสมุนไพรและพืชมีพิษในอุทยานแห่งชาติเฉลิมรัตนโกสินทร์, มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์. “บอน”. อ้างอิงใน: ฐานข้อมูลพืชพิษ สถาบันวิจัยสมุนไพร กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์, สำนักงานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: pirun.kps.ku.ac.th/~b4916098/. [30 มี.ค. 2014].
6.คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์. “Elephant ear”. (ประวิทย์ สุรนีรนาถ). อ้างอิงใน: กองประมงน้ำจืด กรมประมง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.ku.ac.th/fish/mfish.html/aqplant/aqpindex.html. [30 มี.ค. 2014].
7.ฐานข้อมูลพรรณไม้ องค์การสวนพฤกษศาสตร์, กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม. “บอน”. อ้างอิงใน: พรรณไม้น้ำบึงบอระเพ็ด. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.qsbg.org. [30 มี.ค. 2014].
8.อาหารพื้นบ้านล้านนา, สำนักหอสมุด และสำนักบริการคอมพิวเตอร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่. “บอน”. อ้างอิงใน: หนังสือผักพื้นบ้านภาคกลาง (กัญจนา ดีวิเศษ และคณะ), หนังสือผักพื้นบ้าน อาหารไทย, หนังสือสารานุกรมสมุนไพร: รวมหลักเภสัชกรรมไทย (วุฒิ วุฒิธรรมเวช). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: library.cmu.ac.th/ntic/lannafood/. [30 มี.ค. 2014].
9.อาหารพื้นบ้านล้านนา, สำนักหอสมุด และสำนักบริการคอมพิวเตอร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่. “แกงบอน”. อ้างอิงใน: หนังสือสารานุกรมวัฒนธรรมไทย ภาคเหนือ เล่ม 1 หน้า 479 (รัตนา พรหมพิชัย). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: library.cmu.ac.th/ntic/lannafood/. [30 มี.ค. 2014].
10.โครงการเผยแพร่ข้อมูลทรัพยากรชีวภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่นบนพื้นที่สูง, สถาบันวิจัยและพัฒนาที่สูง (องค์การมหาชน). “Taro, Cocoyam”. อ้างอิงใน: หนังสือชื่อพรรณไม้แห่งประเทศไทย (เต็ม สมิตินันทน์), สมุนไพรใกล้ตัว เล่ม 6 : สมุนไพรที่เป็นพิษ (สมพร ภูติยานันต์). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: eherb.hrdi.or.th. [30 มี.ค. 2014].
11.มูลนิธิหมอชาวบ้าน. นิตยสารหมอชาวบ้าน เล่มที่ 194 คอลัมน์: ต้นไม้ใบหญ้า. “บอน : ผักพื้นบ้านที่มากับความคัน”. (เดชา ศิริภัทร). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.doctor.or.th. [30 มี.ค. 2014].
12.หนังสือผักพื้นบ้าน 1. (อุไร จิรมงคลการ).
ภาพประกอบ : www.flickr.com (by Robin, David Monniaux, runew2b, Bob Upcavage, David Scherberich, jt huang), lucidcentral.org
เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)
ขอขอบคุณแหล่งข้อมูล : https://medthai.com