สธ. รณรงค์ฉีดวัคซีนป้องกันโรคหัดในเด็กและผู้ใหญ่ หวังหมดจากประเทศไทย

กระทรวงสาธารณสุข เร่งรณรงค์ให้ผู้ปกครองนำบุตรหลานอายุ 1 - 12 ปี ที่ได้รับวัคซีนป้องกันโรคหัดไม่ครบตามเกณฑ์ มารับการฉีดวัคซีนที่สถานพยาบาลใกล้บ้าน ฟรี ตั้งแต่วันนี้จนถึงมีนาคม 2563 ขณะนี้มีเด็กได้รับการฉีดวัคซีนแล้ว 191,410 คน พร้อมเตรียมรณรงค์ให้วัคซีนในกลุ่มผู้ใหญ่อายุ 20 – 40 ปี ที่ไม่เคยได้รับวัคซีนป้องกันโรคหัดมาก่อน 520,000 คน เพื่อกำจัดโรคหัดให้หมดจากประเทศไทย
          นพ.สุขุม กาญจนพิมาย ปลัดกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วย นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค ประชุมทางไกลผ่านระบบวิดีโอนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดทั่วประเทศ ติดตามการรณรงค์ป้องกันโรคหัดในกลุ่มเด็กอายุ 1 – 12 ปี ทั่วประเทศ ตามแผนเร่งรัดการกำจัดโรคหัดของประเทศไทย และให้สัมภาษณ์ว่า กระทรวงสาธารณสุขได้ให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทุกแห่งเร่งรณรงค์ให้ผู้ปกครองนำบุตรหลานอายุ 1 - 12 ปี ที่ได้รับวัคซีนโรคหัดและหัดเยอรมันไม่ครบตามเกณฑ์ทุกราย มารับการฉีดฟรีที่สถานบริการใกล้บ้าน เพื่อยกระดับภูมิคุ้มกันต่อโรค ลดการป่วยและเสียชีวิตจากโรคหัด เริ่มดำเนินการตั้งแต่เดือนกันยายน 2562 จนถึงวันที่ 24 ธันวาคม 2562 มีเด็กที่ได้รับการฉีดวัคซีนแล้ว 191,410 คน และจะดำเนินการต่อไปถึงมีนาคม 2563
          นอกจากนี้ ได้จัดทำโครงการรณรงค์ให้วัคซีนป้องกันโรคหัดในกลุ่มผู้ใหญ่อายุ 20 - 40 ปี ทั่วประเทศ พ.ศ. 2563 ไม่เคยได้รับวัคซีนป้องกันโรคหัดมาก่อน 520,000 คน ได้แก่ กลุ่มผู้ต้องขังทุกเรือนจำ (ภายใต้แผนปฏิบัติการโครงการราชทัณฑ์ปันสุข ทำความดีด้วยหัวใจ) กลุ่มทหารเกณฑ์ทั่วประเทศ กลุ่มแรงงานในโรงงาน/สถานประกอบการ และบุคลากรสาธารณสุขใน 5 จังหวัดเสี่ยง ดำเนินการระหว่างเดือนพฤษภาคม – กรกฎาคม 2563 เพื่อบรรลุเป้าหมายการกำจัดโรคหัดให้หมดไปจากประเทศไทย
          ด้าน นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า การรณรงค์ครั้งนี้จะฉีดวัคซีนรวมป้องกันโรคหัด-คางทูม-หัดเยอรมัน (MMR) ในเด็กอายุ 1 - 7 ปี และฉีดวัคซีนรวมป้องกันโรคหัด-หัดเยอรมัน (MR) ในเด็กอายุ 7 - 12 ปี ทั้งในเด็กไทยและต่างชาติที่อาศัยอยู่ในประเทศไทย ที่ยังได้รับวัคซีนไม่ครบตามเกณฑ์ ซึ่งในการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคของประเทศไทย จะให้วัคซีนรวมป้องกันโรคหัด-คางทูม-หัดเยอรมัน จำนวน 2 ครั้ง คือ ครั้งที่ 1 เมื่ออายุ 9 เดือน และครั้งที่ 2 เมื่ออายุ 2 ขวบครึ่ง ที่สถานบริการสาธารณสุขทุกแห่ง
          ทั้งนี้ จากข้อมูลการเฝ้าระวังโรคขององค์การอนามัยโลก (WHO) ปัจจุบันพบการระบาดของโรคหัดในทุกภูมิภาคทั่วโลก มีผู้ป่วยกว่า 430,436 คน สำหรับประเทศไทย พบผู้ป่วยเพิ่มตั้งแต่ ปี 2559 โดยในปี 2561 พบผู้ป่วย 3,626 คน ผู้ป่วยเสียชีวิต 23 คน สำหรับปี  2562 ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม ถึง 25 ธันวาคม มีรายงานผู้ป่วยโรคหัดแล้ว 3,477 คน ผู้ป่วยเสียชีวิต 25 คน