นายกสภาเภสัชกรรมแจงเงื่อนไข “ร้านขายยา” ช่วยกระจายชุดตรวจโควิด ATK ฟรี ให้ประชาชนกลุ่มเสี่ยงทั่วประเทศตามมติบอร์ด สปสช. แจกชุดตรวจ ATK ฟรี 8.5 ล้านชิ้น ให้ประชาชนกลุ่มเสี่ยง พร้อมเดินหน้าประสาน อย. ให้ร้านขายยาช่วยจ่ายยาฟาวิพิราเวียร์แก่ผู้ป่วยโควิดในระบบดูแลที่บ้าน หรือ Home Isolation ในอนาคต
รศ.ดร.ภญ.จิราพร ลิ้มปานานนท์ นายกสภาเภสัชกรรม และกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) กล่าวถึงแนวทางการให้ร้านขายยาเป็นจุดกระจายชุดตรวจ Antigen Test Kit (ATK) ฟรี 8.5 ล้านชิ้น ให้แก่ประชาชนกลุ่มเสี่ยงทั่วประเทศตามมติบอร์ด สปสช. ว่า ร้านขายยาที่จะเป็นจุดกระจายชุดตรวจ ATK นั้นจะต้องเป็นร้านขายยาแผนปัจจุบัน (ข.ย.1) ที่มีเภสัชกรประจำตลอดเวลาทำการ และต้องเปิดทำการอย่างน้อย 8 ชั่วโมงต่อวัน รวมไปถึงต้องขึ้นทะเบียนกับทางสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ด้วย
สำหรับประชาชนที่จะได้รับชุดตรวจ ATK ต้องเป็นประชาชนกลุ่มเสี่ยง เช่น ครอบครัวมีผู้ติดเชื้อ หรือเดินทางไปในที่ที่มีผู้ติดเชื้อ รวมไปถึงผู้ที่มีอาการคล้ายโรคโควิด-19 เช่น ไอ มีไข้ เป็นต้น โดยเมื่อก่อนถ้าในครอบครัวมีผู้ติดเชื้อ ทุกคนจะวุ่นวายในการหาที่ตรวจ RT-PCR และต้องใช้เวลานานกว่าจะรู้ผล ซึ่งการใช้ชุดตรวจ ATK จะทำให้รู้ผลไวขึ้น รวมไปถึงสามารถค้นหาผู้ติดเชื้อได้รวดเร็วขึ้น
“เมื่อเป็นกลุ่มเสี่ยงเราไม่ได้อยากให้ออกมาเดินกับผู้อื่น เนื่องจากเมื่อเป็นกลุ่มเสี่ยงก็ควรจะต้องกักตัวเองอยู่ที่บ้าน ฉะนั้น สปสช. จึงมีระบบสำหรับกลุ่มเสี่ยงเพื่อขึ้นทะเบียนก่อน” รศ.ดร.ภญ. จิราพร ระบุ
รศ.ดร.ภญ.จิราพร กล่าวต่อว่า เมื่อขึ้นทะเบียนเสร็จสิ้น สปสช. จะแจกจ่ายรายชื่อไปตามร้านยาใกล้บ้าน หรือตามที่ได้ลงทะเบียนไว้ โดยร้านขายยาจะติดต่อไปยังกลุ่มเสี่ยงเพื่อซักถามอาการ หรือข้อมูลเพื่อยืนยันว่าเป็นกลุ่มเสี่ยงจริงผ่านทางโทรศัพท์ หรือไลน์แอปพลิเคชัน จากนั้นจะดำเนินการส่งชุดตรวจ ATK ไปให้ที่บ้าน พร้อมคำแนะนำและอธิบายให้เข้าใจถึงวิธีการตรวจโควิดด้วยตนเอง
อย่างไรก็ตาม เมื่อทำการตรวจแล้ว ไม่ว่าผลจะเป็นอย่างไรจะต้องถ่ายรูปส่งกลับมาที่ร้านขายยา เมื่อร้านขายยาพบว่ามีผลเป็นลบ (ไม่ติดเชื้อ) ก็จะแนะนำให้กักตัวที่บ้าน และอีก 3-5 วัน ก็จะดำเนินการส่งชุดตรวจ ATK ไปให้อีกครั้งเพื่อยืนยันผลตรวจอีกทีหนึ่ง ในกรณีเมื่อตรวจแล้วพบว่าผลเป็นบวก (ติดเชื้อ) เภสัชกรจะสอบถามอาการเพื่อประเมินกลุ่มอาการเขียว-เหลือง-แดง ในกรณีที่ผู้ป่วยอยู่ในกลุ่มอาการสีเขียวสามารถรักษาตัวที่บ้าน (Home isolation) ได้ เภสัชกรจะจัดชุดยาที่ใช้รักษาตามอาการส่งให้ที่บ้านพร้อมติดตามอาการทุกวัน
ขณะเดียวกัน ถ้าไม่สามารถรักษาตัวที่บ้านได้ก็จะแนะนำให้ไปรักษาในชุมชน (Community isolation) เนื่องจากกลุ่มเสี่ยงเหล่านี้ผ่านการลงทะเบียนกับทาง สปสช. แล้ว ในกรณีถ้าเป็นกลุ่มอาการสีเหลือง- แดง สปสช. ก็จะทราบว่าต้องส่งตัวไปที่โรงพยาบาลใด ซึ่งก็จะทำให้ระบบเดินไปได้อย่างรวดเร็ว
“นั่นแปลว่าก็จะทำให้หาผู้ติดเชื้อได้เพื่อแยกออกมาจากสังคม ขณะเดียวกันก็ลดโอกาสในการพัฒนาเป็นกลุ่มสีเหลือง-แดงของผู้ป่วยจากการรอเตียง ซึ่งเราก็ส่งยาไปให้ได้เลย” รศ.ดร.ภญ.จิราพร ระบุ
สำหรับการจ่ายยาฟาวิพิราเวียร์โดยร้านขายยาก็จะดำเนินการควบคู่กันไปด้วย โดยร้านขายยาจะเป็นหน่วยบริการที่จะทำ Home isolation สำหรับกลุ่มเสี่ยงที่ตรวจแล้วพบผลเป็นบวกและมีอาการ ซึ่งมีการประสานกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ในการที่จะให้ร้านขายยาสามารถกระจายยาเหล่านี้ไปที่ผู้ป่วยได้ ซึ่งก็จะพยายามเริ่มระบบไปพร้อมกัน
อย่างไรก็ตาม ร้านขายยาประเภท ข.ย.1 ทั่วประเทศมีอยู่ประมาณหลักหมื่นร้าน โดยขณะนี้มีร้านขายยาที่เข้าร่วมโครงการแล้วประมาณ 1,000 ร้าน และกำลังทยอยเข้ามาเรื่อย ๆ ซึ่งก็จะพยายามประชาสัมพันธ์ให้ร้านขายยาเข้ามาร่วมโครงการ
“เราจะได้ใช้วิชาชีพเภสัชกรรมในการให้บริการ เพื่อช่วยประเทศในการแก้ปัญหาโรคระบาด เพราะเรามีความรู้เรื่องยา เราก็สามารถให้คำแนะนำการใช้ยา-ชุดตรวจที่ถูกต้อง เหมาะสม ทำให้ระบบเดินต่อไปได้ เพราะตรวจได้เร็วก็สามารถที่จะควบคุมการกระจายของโรคได้” รศ.ดร.ภญ.จิราพร ระบุ กล่าว
ทั้งนี้ ระหว่างรอชุดตรวจ ATK ที่ยังไม่มานั้น สปสช. พยายามที่จะประสานกับสภาเภสัชกรรม และ อย. เพื่อทำให้ระบบสามารถเดินได้ ในขณะนี้ทุกฝ่ายกำลังเตรียมตัว-บริหารจัดการ ส่วนตัวเชื่อว่าเมื่อมีชุดตรวจมาถึงร้านขายยารวมถึงระบบต่าง ๆ ก็จะพร้อมและจะสามารถแยกคนที่ติดเชื้อออกจากคนที่ไม่ติดเชื้อ ทำให้การแพร่เชื้อลดลง
“ตอนนี้ระหว่างรอชุดตรวจ ก็มีการเตรียมงานหลังบ้านให้เรียบร้อย เมื่อไหร่ที่ชุดตรวจมาก็จะสามารถบริหารจัดการได้ด้วยระบบที่โปร่งใส ฉะนั้น ก็จะมีระบบการขึ้นทะเบียน และระบบการป้อนข้อมูลก็จะทำให้ทราบว่าชุดตรวจใช้ไปเท่าไหร่ เรามองว่าต้องทำทุกอย่างให้โปร่งใสและไม่มีข้อกังขากับประชาชน” รศ.ดร.ภญ. จิราพร ระบุ